หรรษา เลาหเสรีกุล. 2537. การเรียนในโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์กับลักษณะทาง ศาสนาและพฤติกรมศาสตร์ของนักเรียนวัยรุ่น. ปริญญานิพนธ์ วท.ม (พฤติกรรมศาสตร์) สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์. การวิจัยครั้งนี้ เป็นการศึกษาปัจจัยทางโรงเรียนและครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับลักษณะทางศาสนาและ พฤติกรรมศาสตร์ของนักเรียนที่เข้าเรียน และไม่เข้าเรียนในโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์โดยมีจุดมุ่งหมาย 3 ประการคือ ประการแรก เพื่อศึกษาว่าประสบการณ์จากกิจกรรมทางพุทธศาสนา (ได้แก่ ระยะเวลาที่เข้าเรียนในโรงเรียนพุทธ ศาสนาวันอาทิตย์ และการได้รับประโยชน์จากกิจกรรมทางพุทธศาสนาที่โรงเรียนจัดขึ้น) การอบรมเลี้ยงดูในครอบครัว ( ได้แก่ การอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุน และการส่งเสริมความเป็นพุทธมามกะ) และลักษณะทางชีวสังคมและภูมิหลังของครอบครัว เกี่ยวข้องกับลักษณะทางศาสนาของนักเรียนอย่างไร ประการที่สอง เพื่อศึกษาว่าประสบการณ์จากกิจกรรมทางพุทธศาสนา การอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัว และภูมิหลังทางครอบครัวของนักเรียนเกี่ยวข้องกับลักษณะทางพฤติกรรมศาสตร์ของนักเรียน อย่างไร ประการที่สี่ เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางศาสนากับลักษณะทางพฤติกรรมศาสตร์ของนักเรียน กลุ่มตัวอย่าง ในการวิจัยนี้คือ นักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1,2 และ 3 สังกัดกรม สามัญศึกษา ปีการศึกษา 2535 เป็นนักเรียนที่เข้าเรียนในโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ 145 คน และเพื่อนร่วมโรงเรียนและ ร่วมระดับชั้นเรียนเดียวกันแต่ไม่ได้เรียนในโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์อีก 140 คน รวมทั้งสิ้น 285 คน นักเรียนใน กลุ่มตัวอย่างมีความเท่าเทียมกันในด้าน เพศ อายุ ระดับทางเศรษฐกิจ สภาวะทางครอบครัว และระดับการศึกษาของบิดา และมารดา การวิจัยนี้ เป็นการวิจัยภาคสนาม เก็บข้อมูลโดยใช้แบบวัดชุดต่างๆ และแบบสอบถามตัวแปรที่ศึกษา แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม 1) ประสบการณ์จากกิจกรรมทางศาสนา 2 ด้าน วัดโดยแบบสอบถามระยะเวลาที่เข้าเรียนในโรงเรียน พุทธศาสนาวันอาทิตย์ และแบบวัดการเข้าร่วมและรับรู้ประโยชน์จากกิจกรรมทางพุทธศาสนาที่โรงเรียนจัดขึ้น 2) การอบรม เลี้ยงดูจากครอบครัว 2 แบบ วัดโดยแบบวัดการอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุน และแบบวัดการส่งเสริมความเป็นพุทธมามกะ 3) ลักษณะทางศาสนา วัดโดยแบบวัดความเชื่อและการปฏิบัติทางพุทธศาสนา 4) ลักษณะทางพฤติกรรมศาสตร์ 2 ด้าน วัดโดยแบบวัดความผาสุกทางจิตใจ และแบบวัดการคบเพื่อนอย่างเหมาะสม 5) ลักษณะทางชีวสังคมและภูมิหลัง 6 ตัวแปร วัดโดยแบบสอบถามภูมิหลัง และแบบวัดสัมพันธภาพระหว่างบิดามารดา ซึ่งผู้วิจัยใช้คะแนนจากแบบวัดนี้เป็นส่วนหนึ่ง ในการพิจารณาแบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็นกลุ่มสภาวะครอบครัวปกติและสภาวะครอบครัวเสี่ยง การวิเคราะห์ข้อมูล ในการวิจัยนี้ใช้วิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนสามทาง (Three-way analysis of varinace) การวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบเป็นขั้น (Multiple regression analysis, stepwised) การวิเคราะห์สหสัมพันธ์แบบแคนอนนิคอล (Canonical correlation coefficient) และการวิเคราะห์สหสัมพันธ์ (Pearson product-moment correlation Coefficient) การวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดนี้ กระทำในกลุ่มรวมและ กลุ่มย่อยที่แบ่งตามลักษณะทางชีวสังคมและภูมิหลังทางครอบครัวของนักเรียนในกลุ่มตัวอย่าง เพื่อให้ได้ผลละเอียดชัดเจนยิ่งขึ้น การวิจัยครั้งนี้พบผลเด่นชัด 4 ประการ ดังต่อไปนี้ ประการที่หนึ่ง พบว่า การเข้าเรียนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์มีส่วนเกี่ยวข้องกับลักษณะทางจิตและ พฤติกรรมของนักเรียนบางประการ ดังต่อไปนี้ (1) นักเรียนที่เข้าเรียนในโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์มีความเชื่อทางพุทธ ศาสนาสูง พบในกลุ่มนักเรียนที่บิดาระดับการศึกษาต่ำ และกลุ่มนักเรียนจากครอบครัวระดับเศรษฐกิจสูงแต่เป็นครอบครัว สภาวะเสี่ยง (2) นักเรียนที่เข้าเรียนที่เข้าเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์มีการปฏิบัติทางพุทธศาสนาสูง พบในนักเรียนหญิงอายุมาก (3) นักเรียนที่เข้าเรียนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์มีความผาสุกทางจิตใจมาก พบว่าในกลุ่มนักเรียนหญิง โดยเฉพาะนักเรียน หญิงที่มารดามีการศึกษาสูง แต่การเข้าเรียนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ไม่เกี่ยวข้องกับการคบเพื่อนอย่างเหมาะสม ประการที่สอง พบว่า กลุ่มนักเรียนที่บิดามารดาการศึกษาต่ำ จะมีความเชื่อทางพุทธศาสนาสูง มีการคบเพื่อน อย่างเหมาะสมมาก ถ้าได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุนมาก และได้รับประโยชน์มากจากกิจกรรมทางพุทธศาสนา ที่โรงเรียนจัดขึ้น และกลุ่มนักเรียนที่อยู่ในครอบครัวสภาวะเสี่ยงจะมีความเชื่อและการปฏิบัติทางพุทธศาสนาสูง ถ้าได้รับการส่งเสริมความเป็นพุทธมามกะมากจากครอบครัว ประการที่สาม พบว่า นักเรียนที่ได้รับประสบการณ์จากกิจกรรมทางพุทธศาสนา 2 ด้านในปริมาณสูง และได้รับการอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัว 2 แบบในปริมาณมาก เป็นผู้ที่มีวามเชื่อทางพุทธศาสนาสูง (ทำนายได้ 25 % ในกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3) เป็นผู้มีการปฏิบัติทางพุทธศาสนาสูง (ทำนายได้ 41 % ในกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 3 และในกลุ่มนักเรียนที่ครอบครัวมีระดับทางเศรษฐกิจสูง) เป็นผู้มีความผาสุกทางจิตใจมาก (ทำนายได้ 53% ในกลุ่มนักเรียนที่ครอบครัวมีระดับทางเศรษฐกิจสูง) และเป็นผู้ที่มีการคบเพื่อนอย่างเหมาะสมมาก (ทำนายได้ 51% ในกลุ่ม นักเรียนที่บิดามีการศึกษาสูง) การได้รับประโยชน์จากกิจกรรมทางพุทธศาสนาในโรงเรียนและการส่งเสริมความเป็นพุทธมามกะ ในครอบครัว เป็นตัวแปรที่มีบทบาทสำคัญในการทำนายลักษณะทางศาสนาและพฤติกรรมศาสตร์เป็นอันดับแรกๆ ประการที่สี่ ในการวิจัยนี้พบหลักฐานชัดเจนว่านักเรียนที่มีความเชื่อและการปฏิบัติทางพุทธศาสนาสูง ก็จะมีความผาสุกทางจิตใจและการคบเพื่อนอย่างเหมาะสมมากด้วย (ปริมาณการทำนายได้สูงสุด 40% ในกลุ่มนักเรียนที่ เข้าเรียนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์) และเมื่อเปรียบเทียบกลุ่มนักเรียนที่เข้าเรียนและไม่เข้าเรียนในโรงเรียนพุทธศาสนา วันอาทิตย์ต่างกัน ปรากฏว่า ความเชื่อและการปฏิบัติทางพุทธศาสนาของนักเรียน เกี่ยวข้องกับความผาสุกทางจิตใจ และการคบ เพื่อนอย่างเหมาะสม ในกลุ่มนักเรียนที่เข้าเรียนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เด่นชัดกว่ากลุ่มนักเรียนที่ไม่เข้าเรียนโรงเรียน พุทธศาสนาวันอาทิตย์ในกลุ่มย่อย 5 กลุ่ม คือ กลุ่มนักเรียนอายุมาก (ทำนายได้ 38% และ 17%) กลุ่มนักเรียนที่บิดา มีการศึกษาต่ำ (ทำนายได้ 39% และ 22%) กลุ่มนักเรียนจากสภาวะครอบครัวเสี่ยง (ทำนายได้ 38% และ 23%) กลุ่มนักเรียนที่มารดามีการศึกษาต่ำ (ทำนายได้ 41% และ 28%) และกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 (ทำนายได้ 31% และ 11%) การวิจัยนี้มีประโยชน์คือ ชี้ให้เห็นความสำคัญของการอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัวและประสบการณ์ จากกิจกรรมทางพุทธศาสนาในโรงเรียนที่มีต่อลักษณะทางศาสนา และพฤติกรรรมศาสตร์ที่น่าปรารถนาบางประการ ในนักเรียนวัยรุ่น ได้แก่ ความเชื่อและการปฏิบัติทางพุทธศาสนา ความผาสุกทางจิตใจ และการคบเพื่อนอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ การวิจัยนี้ยังชี้ให้เห็นถึงประเภทของนักเรียนที่ได้รับประโยชน์จากการเข้าเรียนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ปัจจัย ปกป้องในกลุ่มนักเรียนจากสภาวะครอบครัวเสี่ยง และปัจจัยส่งเสริมในกลุ่มนักเรียนที่บิดามารดามีระดับการศึกษาต่ำ และมีข้อ เสนอแนะจากผลการวิจัยบางประการคือ (1)ในกลุ่มนักเรียนที่บิดามารดามีการศึกษาต่ำและอยู่ในครอบครัวระดับทางเศรษฐกิจต่ำ ถ้าบิดามารดารักใคร่ปรองดองกัน สามารถให้ความรักความอบอุ่นแก่บุตร เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตแบบชาวพุทธ และ ส่งเสริมให้บุตรได้เข้าร่วมและเห็นคุณค่าของกิจกรรมทางพุทธศาสนาที่โรงเรียนจัดขึ้น บุตรก็จะมีลักษณะและพฤติกรรมที่ น่าปรารถนาได้ (2) สำหรับกลุ่มนักเรียนในสภาวะครอบครัวเสี่ยง แม้จะเป็นกลุ่มที่ล่อแหลมต่อการเกิดลักษณะและพฤติกรรม ที่ไม่เหมาะสม ด้วยเหตุที่ขาดความอบอุ่นในครอบครัว หรือบิดามารดาไม่สามารถเป็นแบบอย่างแก่บุตรได้ แต่ถ้าโรงเรียน ครู หรือผู้ใกล้ชิด จะมีบทบาทสำคัญในการอบรมสั่งสอนแทนบิดามารดา สนับสนุนและส่งเสริมให้นักเรียนมีโอกาสใกล้ชิดศาสนา เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาที่โรงเรียนจัดขึ้น คอยชี้แนะให้เห็นคุณค่าหรือประโยชน์ของกิจกรรมนั้นๆ ตลอดจนส่งเสริม ให้นักเรียนได้มีโอกาสเข้าเรียนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้นักเรียนมีลักษณะและพฤติกรรมที่ น่าปรารถนาเช่นกัน | SWU | | BSRI |