จิรวัฒนา มั่นยืน. 2536. ประสบการณ์ในมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับลักษณะทางพุทธศาสนา และทางจิตของนิสิตในกรุงเทพมหานคร. ปริญญานิพนธ์ วท.ม. (พฤติกรรมศาสตร์). สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์. การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประสบการณ์ทางพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัย กับลักษณะทางพุทธศาสนาและจิตลักษณะที่สำคัญของนิสิต จุดมุ่งหมายของการวิจัยมี 3 ประการ ประการแรกเพื่อทราบว่า นิสิตที่ได้รับประสบการณ์ทางพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยต่างกันจะมีความเชื่อทางพุทธศาสนา การปฏิบัติทางพุทธศาสนา เหตุผลเชิงจริยธรรมและเอกลักษณ์แห่งอีโก้ทางพุทธศาสนาแตกต่างกันหรือไม่ ประการที่สองเพื่อศึกษาลักษณะทาง เศรษฐกิจ สังคมและภูมิหลังของนิสิตร่วมกับประสบการณ์ทางพุทธในมหาวิทยาลัยของนิสิตจะเกี่ยวข้องกับการมีความเชื่อทางพุทธศาสนา การปฏิบัติทางพุทธศาสนา เหตุผลเชิงจริยธรรมและเอกลักษณ์แห่งอีโก้ทางพุทธศาสนาแตกต่างกันหรือไม่ ประการที่สาม เพื่อศึกษาถึงปริมาณของการมีความเชื่อทางพุทธศาสนาและการปฏิบัติทางพุทธศาสนาของนิสิตว่ามีความเกี่ยวข้องกับเหตุผลเชิง จริยธรรม เอกลักษณ์แห่งอีโก้ทางพุทธศาสนา สุขภาพจิตและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนิสิตหรือไม่ กลุ่มตัวอย่าง ในการวิจัยนี้คือ นิสิตผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2, 3 และ 4 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2535 จากมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ 7 แห่ง รวมทั้งสิน 260 คน ครึ่งหนึ่งเป็นสมาชิกของชมรมพุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย อีกครั้งหนึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกของชมรมพุทธศาสตร์ 2 กลุ่มมีความเท่าเทียมกับทางด้าน เพศ ชั้นเรียน และวิชาเอก การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยภาคสนาม เก็บข้อมูลโดยใช้แบบวัดต่างๆ และแบบสอบถามตัวแปร ที่ศึกษาแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) ประสบการณ์ทางพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัย 4 ด้านวัดโดยแบบสอบถามประสบการณ์ ทางพุทธจากวิชาที่เรียน แบบสอบถามประสบการณ์จากการเป็นสมาชิกของชมรมพุทธศาสตร์ แบบสอบถามประสบการณ์ ทางพุทธจากการทำกิจกรรมทั่วไป และแบบสอบถามประสบการณ์จากการบวชในพุทธศาสนาขณะที่เป็นนิสิต 2) คุณลักษณะ ของนิสิต 6 ด้านวัดโดยแบบวัดความเชื่อทางพุทธศาสนาแบบวัดการปฏิบัติทางพุทธศาสนา แบบวัดการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม แบบวัดเอกลักษณ์แห่งอีโก้ทางพุทธศาสนา แบบวัดสุขภาพจิตและแบบสอบถามผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 3) ลักษณะทางชีวสังคมและภูมิหลัง 6 ตัว วัดโดยแบบสอบถามภูมิหลังแบบวัดการได้รับการถ่ายทอดทางพุทธศาสนาจาก โรงเรียนมัธยมศึกษา และแบบวัดการเป็นแบบอย่างทางพุทธของบิดามารดา การวิเคราะห์ข้อมูล ในการวิจัยนี้ ใช้วิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบสามทาง (Three Way Analysis of Variance) การวิเคราะห์แบบถดถอยพหุคูณ (Multiple Regression Analysis) และการ วิเคราะห์สหสัมพันธ์แบบคาโนนิคอล (Canonical Correlation) การวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดนี้ กระทำในกลุ่มรวม และกลุ่มย่อยที่แบ่งตามลักษณะทางชีวสังคมและภูมิหลังของนิสิตเพื่อให้ได้ผลที่ละเอียดชัดเจนยิ่งขึ้น การวิเคราะห์ข้อมูล พบผลที่สำคัญเด่นชัด 3 ประการ ดังนี้คือ ประการแรก พบว่า ประสบการณ์ทางพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญต่อคุณลักษณะของนิสิตนั้น มี 3 ประการ คือ ประสบการณ์ในการเป็นสมาชิกของชมรมพุทธศาสตร์มีความสำคัญมากที่สุด รองลงมาคือ ประสบการณ์ ทางพุทธจากวิชาที่เรียน และประสบการณ์จากการบวชในพุทธศาสนา ส่วนประสบการณ์ทางพุทธจากการทำกิจกรรมต่างๆ นั้นให้ผลน้อย นิสิตที่ได้รับประสบการณ์ทั้ง 3 ด้านนี้สูงจะเป็นผู้มีความเชื่อทางพุทธศาสนามาก (ทำนายได้ 36 % ในกลุ่ม นิสิตโดยรวม) จะมีการปฏิบัติทางพุทธสูง (ทำนายได้ 33 % ในกลุ่มนิสิตโดยรวม) มีเอกลักษณ์แห่งอีโก้ทางพุทธศาสนาสูง (ทำนายได้ 52% ในนิสิตปี 4) มีสุขภาพจิตดี (ทำนายได้ 25 % ในนิสิตปี 4) และมีเหตุผลเชิงผลเชิงจริยธรรสูง (ทำนายได้ 13% ในนิสิตปี 4) ประการที่สอง เมื่อนำลักษณะทางชีวสังคมและภูมิหลังของนิสิตมาร่วมศึกษาพบว่า การมีบิดามารดาที่เป็นแบบ อย่างที่ดีทางพุทธมาก นิสิตนั้นจะมีความเชื่อทางพุทธศาสนาและการปฏิบัติทางพุทธศาสนามากกว่านิสิตที่มีบิดามารดาเป็น แบบอย่างทางพุทธน้อย ผลนี้ปรากฏชัดเจนในกลุ่มนิสิตหญิงนิสิตชั้นปีที่ 2 และ 3 นอกจากนั้นนิสิตที่รายงานว่าตนได้รับ การถ่ายทอดทางพุทธศาสนาจากโรงเรียนมัธยมศึกษามากก็จะเป็นผู้ปฏิบัติทางพุทธศาสนามากด้วย ผลเช่นนี้ปรากฏชัดในนิสิตชั้นปีที่ 2 และนิสิตที่มารดามีการศึกษาสูง ประการที่สาม ในงานวิจัยนี้พบหลักฐานชัดเจนที่แสดงว่า ความเชื่อและการปฏิบัติทางพุทธศาสนาเกี่ยวข้องกับ ลักษณะเหตุผลเชิงจริยธรรม (โดยร่วมกันทำนายเหตุผลเชิงจริยธรรมได้ 20% ในนิสิตชายและหญิง ปี 4) เกี่ยวข้องกับ เอกลักษณ์แห่งอีโก้ทางพุทธศาสนา (ร่วมกันทำนายได้ 30% ในกลุ่มนิสิตปีที่ 4) และเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตที่ดีของนิสิต (ร่วมกันทำนายได้ 23 % ในนิสิตจากครอบครัวฐานะต่ำ) ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า นิสิตที่มีความเชื่อและการปฏิบัติทางพุทธศาสนา มากเท่าใด จะเป็นผู้มีเหตุผลเชิงจริยธรรมสสูง มีเอกลักษณ์แห่งอีโก้ทางพุทธศาสนาสูงและมีสุขภาพจิตดีมากด้วย ผลนี้ชัดเจนในนิสิตหญิงนิสิตชั้นปีที่ 4 และนิสิตจากครอบครัวฐานะต่ำ การวิจัยนี้มีประโยชน์ คือ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของประสบการณ์ทางพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัย ว่ามีความสำคัญต่อจิตลักษณะทางพุทธศาสนาและคุณลักษณะที่สำคัญในนิสิตนักศึกษาไทยได้แก่ความเชื่อทางพุทธศาสนา การปฏิบัติทางพุทธศาสนา การใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมเอกลักษณ์แห่งอีโก้ทางพุทธศาสนา และสุขภาพจิตนอกจากนี้การวิจัยนี้ยัง ชี้ให้เห็นถึงประเภทของนิสิตที่ได้รับผลดีจากการรับประสบการณ์ทางพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัย ซึ่งก็คือ นิสิตหญิง นิสิต จากครอบครัวฐานะต่ำ และนิสิตที่ได้รับการถ่ายทอดจากโรงเรียนมัธยมศึกษาน้อยโดยการวิจัยนี้ให้ผลที่เสนอแนะ หลาย ประการคือ หนึ่ง ควรส่งเสริมชักจูงนิสิตหญิง นิสิตจากครอบครัวฐานะต่ำ และนิสิตที่ได้รับการถ่ายทอดทางพุทธศาสนา จากโรงเรียนมัธยมศึกษาน้อย ให้เข้าร่วมกิจกรรมของชมรมพุทธศาสตร์และได้เรียนวิชาทางพุทธศาสนามากขึ้น และให้อาจารย์ ผู้สอนในวิชาต่างๆ สอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมในวิชาเรียนให้มากยิ่งขึ้นด้วย สอง ควรพัฒนาความเชื่อและการปฏิบัติทาง พุทธศาสนาในนิสิตโดยพัฒนาบิดามารดาและโรงเรียนมัธยมศึกษาในทั้งสองด้านนี้ด้วย สาม มหาวิทยาลัยควรจัดกิจกรรมทั่วไป ให้มีผลดีต่อจิตใจและคุณลักษณะทางพุทธศาสนา แต่นิสิตให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเพื่อผลดีต่อนิสิตที่ไม่ได้เข้าชมรม พุทธศาสตร์แต่เลือกเข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยแทน | SWU | | BSRI |