วัตถุประสงค์ การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประสบการณ์ในมหาวิทยาลัยกับ จิตลักษณะสำคัญของนิสิต จุดมุ่งหมายทางการวิจัยมี 3 ประการ ประการแรกเพื่อต้องการทราบว่านิสิตที่ได้รับประสบการณ์ใน มหาวิทยาลัยต่างกันจะมีการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม ลักษณะมุ่งอนาคต และเอกลักษณ์แห่งอีโก้ต่างกันหรือไม่ ประการที่สอง เพื่อต้องการทราบความเกี่ยวข้องระหว่างประสบการณ์ในมหาวิทยาลัยกับการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม ลักษณะมุ่งอนาคต และ เอกลักษณ์แห่งอีโก้ว่าจะแตกต่างกันในนิสิตที่มีลักษณะทางชีวสังคมและภูมิหลังต่างกันหรือไม่ ประการที่สามเพื่อต้องการ ทราบว่าลักษณะทางฝ่ายเศรษฐกิจสังคมและภูมิหลังของนิสิตร่วมกับฝ่ายประสบการณ์ในมหาวิทยาลัยจะเกี่ยวข้องกับ จิตลักษณะของนิสิตมากกว่าลักษณะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียวจะเกี่ยวข้องกับจิตลักษณะเหล่านี้หรือไม่ วิธีดำเนินการวิจัย กลุ่มตัวอย่าง ในการวิจัยครั้งนี้คือ นิสิตผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 และ 4 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2532 จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 190 คน และจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร 83 คน รวมทั้งสิ้น 273 คน การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยภาคสนาม เก็บข้อมูลโดยใช้แบบวัดต่าง ๆ และแบบสอบถาม ตัวแปรที่ศึกษาแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ 1) ประสบการณ์ในมหาวิทยาลัย 5 ด้าน วัดโดยแบบวัดการรับรู้ทางสังคมจากวิชาการแบบวัดประสบการณ์ด้าน กลุ่มเพื่อน แบบสอบถามด้านวิชาการ แบบสอบถามการทำกิจกรรม แบบสอบถามผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 2) จิตลักษณะ ที่สำคัญ 3 ด้าน วัดโดยแบบวัดการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม แบบวัดลักษณะมุ่งอนาคต และแบบวัดเอกลักษณ์แห่งอีโก้ 3) ลักษณะทางชีวสังคมและภูมิหลัง 10 ตัวแปรวัดโดยแบบสอบถามภูมิหลัง การวิเคราะห์ข้อมูล ในการวิจัยนี้ใช้วิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบสามทาง (Three-way Analysis of Variance) การวิเคราะห์แบบถดถอยพหุคูณ (Multiple Regression Analysis) เพื่อทดสอบสมมติฐานที่ตั้งไว้ 4 ข้อ การ วิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดนี้กระทำในกลุ่มรวมและกลุ่มแบ่งตามลักษณะทางชีวสังคมและภูมิหลังของนิสิตเพื่อให้ได้ผล ที่ละเอียดชัดเจนยิ่งขึ้น สรุปผล ผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่สำคัญมี 4 ประการ ประการแรกพบว่าในนิสิตที่ศึกษาทั้งหมดนิสิตที่เรียนวิชาที่เกี่ยวข้อง กับมนุษย์และสังคมมาก เป็นผู้ที่มีเอกลักษณ์แห่งอีโก้สูงกว่าผู้ที่เรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสังคมน้อยในหมู่นิสิต ที่เรียนวิชาที่ให้ความสำคัญแก่มนุษย์และสังคมมากนี้ ถ้ามีผลการเรียนดีด้วยจะเป็นผู้ที่มีการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมสูง และมีลักษณะมุ่งอนาคตมาก ผลนี้พบในกลุ่มนิสิตที่ครอบครัวมีระดับเศรษฐกิจสังคมต่ำอย่างชัดเจนกว่านิสิตประเภทอื่น ๆ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่สำคัญประการที่สอง พบว่า ปริมาณการคบเพื่อนอย่างเหมาะสม และการรับรู้ทางสังคม จากวิชาการที่ตนเรียนอยู่นั้นเป็นตัวทำนายจิตลักษณะทั้ง 3 คือ การใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมลักษณะมุ่งอนาคตและเอกลักษณ์แห่ง อีโก้ของนิสิตที่ศึกษาโดยรวมอย่างชัดเจน และยังพบอีกว่า ประสบการณ์ในมหาวิทยาลัย 5 ตัว คือ ประสบการณ์ด้านวิชาการ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การรับรู้ทางสังคมจากวิชาการ ประสบการณ์ด้านการทำกิจกรรมและประสบการณ์ด้านกลุ่มเพื่อน ร่วมกันทำนายจิตลักษณะทีละด้านทั้ง 3 ด้านได้สูงที่สุดในนิสิตหญิงที่มาจากครอบครัวฐานะต่ำได้มากกว่านิสิตในกลุ่ม เปรียบเทียบอีก 3 ประเภทคือ ทำนายในกลุ่มนิสิตหญิงที่มาจากครอบครัวฐานะต่ำได้โดยเฉลี่ย 46% (ส่วนอีก 3 กลุ่มคือ นิสิตชายฐานะต่ำ นิสิตชายฐานะสูงและนิสิตหญิงฐานะสูงทำนายได้โดยเฉลี่ย 26% 23% และ 31% ตามลำดับ) ผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่สำคัญประการที่สาม พบว่า ประสบการณ์ในมหาวิทยาลัย 5 ตัวและภูมิหลัง 5 ตัวคือ ระดับการศึกษาของบิดา ระดับการศึกษาของมารดา การทำงานหารายได้พิเศษ ปริมาณค่าใช้จ่ายต่อเดือน อายุ ร่วมกันทำนาย การใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม ลักษณะมุ่งอนาคตและเอกลักษณ์แห่งอีโก้ได้มากกว่าการใช้ตัวทำนายชุดเดียวในกลุ่มรวมและ ที่เด่นชัดได้แก่กลุ่มนิสิตที่พักอยู่กับครอบครัว กลุ่มนิสิตระดับเศรษฐกิจต่ำ และกลุ่มนิสิตที่ทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่สำคัญประการที่สี่ พบว่า นิสิตระดับเศรษฐกิจสูงที่ทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยมาก จะมีการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมสูง ส่วนนิสิตที่เคยทำงานหารายได้พิเศษถ้ามีประสบการณ์ด้านการทำกิจกรรมมากจะต้องมี ผลการเรียนดีและเรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ และสังคมมาก จึงจะมีเอกลักษณ์แห่งอีโก้มากแต่โดยทั่วไปประสบการณ์ด้าน การทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยให้ผลเกี่ยวกับจิตลักษณะของนิสิตไม่มากอย่างที่คาดไว้