วัตถุประสงค์ การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาว่า นักศึกษาที่มีพฤติกรรมการทะเลาะวิวาทมาก มีลักษณะทางอารมณ์ สังคม และจริยธรรมแตกต่างจากนักศึกษาที่มีพฤติกรรมการทะเลาะวิวาทระหว่างสถาบันการศึกษา ในปริมาณน้อยหรือไม่มีเลยหรือไม่ โดยมีจุดมุ่งหมายในการวิจัยนี้ 4 ประการ ประการแรกเพื่อศึกษาว่านักศึกษาที่มีพฤติกรรม การทะเลาะวิวาทในปริมาณต่างกันมีจิตลักษณะ 4 ด้าน คือ การใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม การมุ่งอนาคตสุขภาพจิตและทัศนคติ ต่อการทะเลาะวิวาทแตกต่างกันหรือไม่ ประการที่สอง เพื่อศึกษาว่านักศึกษาที่มีพฤติกรรมการทะเลาะวิวาทในปริมาณต่างกัน มีลักษณะทางสังคม2 ด้านคือ ลักษณะการคบเพื่อนอย่างเหมาะสมและการรับรู้บรรยากาศแบบประชาธิปไตยระหว่างอาจารย์ และนักศึกษาแตกต่างกันหรือไม่ ประการที่สาม เพื่อศึกษาว่าจิตลักษณะทั้ง 4 ด้านและลักษณะทางสังคม 2 ด้านของนักศึกษา จะสามารถร่วมกันทำนายพฤติกรรมการทะเลาะวิวาท ได้ดีกว่าจิตลักษณะทั้ง 4 ด้านฝ่ายเดียว หรือลักษณะทางสังคม 2 ด้านฝ่ายเดียวหรือไม่ ประการที่สี่ นักศึกษาที่มีลักษณะทางชีวสังคมและภูมิหลังต่างกันจะมีพฤติกรรมการทะเลาะวิวาท แตกต่างกันหรือไม่ วิธีดำเนินการวิจัย กลุ่มตัวอย่าง ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักศึกษาชายในวิทยาลัยอาชีวศึกษา 4 แห่งในกรุงเทพมหานคร ที่เป็นนักศึกษาที่มีพฤติกรรมทะเลาะวิวาทในปริมาณต่าง ๆ กันถึงไม่ทะเลาะเลยที่เรียนอยู่ในห้องเรียนเดียวกันกลุ่มตัวอย่าง ในครั้งนี้มีอายุอยู่ระหว่าง 13 - 23 ปี โดยมีอายุเฉลี่ย 17-20 ปี เป็นนักศึกษาชายในระดับ ปวช. ทั้งสิ้นศึกษาใน 3 สาขาวิชาคือ ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า และช่างก่อสร้าง รวมทั้งสิ้น 250 คน การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยภาคสนาม เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม ตัวแปรที่ศึกษาแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ (1) ตัวแปรทางด้านชีวสังคมภูมิหลังของนักศึกษาชายผู้ตอบและพฤติกรรมการทะเลาะวิวาทวัดโดยแบบสอบถามภูมิหลัง และข้อคำถามที่วัดปริมาณการเข้าร่วมทะเลาะวิวาท (2) จิตลักษณะของผู้ตอบมี 4 ด้านได้แก่ การใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม การมุ่งอนาคต สุขภาพจิต ทัศนคติต่อการทะเลาะวิวาท วัดโดยใช้แบบวัดเรื่องละ 10 18 20 20 ข้อ (3) ลักษณะทางสังคม 2 ด้าน คือ ลักษณะการคบเพื่อนอย่างเหมาะสมการรับรู้บรรยากาศแบบประชาธิปไตยระหว่างอาจารย์และนักศึกษาวัดโดยแบบ วัดเรื่องละ 24 23 ข้อ การวิเคราะห์ข้อมูล ในการวิจัยนี้ ใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบสามทาง (Three-way Analysis of Variance) การวิเคราะห์แบบถดถอยพหุคูณเป็นขั้น (Stepwised Multiple Regression Analysis) เพื่อทดสอบสมมติฐาน ที่ตั้งไว้และศึกษาความสัมพันธ์ (Pearson's Correlation Coefficient) ระหว่างตัวแปรต่าง ๆ ในกลุ่มที่แบ่งย่อยตามลักษณะ ทางชีวสังคม และภูมิหลังคือ ลักษณะอื่น ๆ ของผู้ตอบซึ่งเป็นการวิเคราะห์นอกเหนือสมมติฐาน สรุปผล ผลการวิจัยที่สำคัญมี 6 ประการ ประการแรก คือ พบว่า นักศึกษาชายที่ไม่เคยร่วมในการทะเลาะวิวาทเลยมีปริมาณ 192 คน (76.80 เปอร์เซ็นต์) นักศึกษาที่มีพฤติกรรมทะเลาะวิวาทมากคือ นักศึกษาที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจสูงและนักศึกษาที่มีลักษณะ 2 ประการต่อไปนี้ในคน ๆ เดียวกัน คือนักศึกษาที่มีอายุมากซึ่งมักอยู่ปีที่ 3 และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงและโดยเฉพาะ นักศึกษาในสาขาวิชาช่างก่อสร้าง ประการที่สอง คือ นักศึกษาชายที่มีพฤติกรรมทะเลาะวิวาทน้อย หรือไม่ทะเลาะเลยมีทัศนคติที่ดีต่อการ ทะเลาะวิวาทน้อยกว่านักศึกษาที่มีพฤติกรรมทะเลาะวิวาทมาก และทัศนคติต่อการทะเลาะวิวาทนี้เป็นตัวทำนายที่สำคัญที่สุด ของพฤติกรรมทะเลาะวิวาททั้งในกลุ่มรวมและกลุ่มย่อยทุกกลุ่ม ยกเว้นกลุ่มนักศึกษาวิชาช่างยนต์ ประการที่สาม คือ ทัศนคติต่อการทะเลาะวิวาทมีความสัมพันธ์กับลักษณะการคบเพื่อนอย่างเหมาะสม โดยพบว่า นักศึกษาที่มีลักษณะการคบเพื่อนอย่างเหมาะสมมากเท่าไรมีทัศนคติที่ดีต่อการทะเลาะวิวาทน้อยลงเท่านั้น ประการที่สี่ คือ นักศึกษาที่มีพฤติกรรมการทะเลาะวิวาทน้อย นอกจากจะมีทัศนคติที่ดีต่อการทะเลาะวิวาทน้อยแล้ว ยังรับรู้บรรยากาศแบบประชาธิปไตยระหว่างอาจารย์และนักศึกษามากกว่านักศึกษาที่มีพฤติกรรมการทะเลาะวิวาทมาก ส่วนการรับรู้บรรยากาศแบบประชาธิปไตยระหว่างอาจารย์และนักศึกษาก็เกี่ยวข้องกับลักษณะการคบเพื่อนอย่างเหมาะสม โดยพบว่านักศึกษาที่รับรู้บรรยากาศแบบประชาธิปไตยระหว่างอาจารย์และนักศึกษามากเท่าไรมีลักษณะการคบเพื่อน อย่างเหมาะสมมากขึ้นเท่านั้น ประการที่ห้า คือ ลักษณะการมุ่งอนาคตของนักศึกษาชายมีความสัมพันธ์กับทัศนคติต่อการทะเลาะวิวาท การรับรู้บรรยากาศ แบบประชาธิปไตยระหว่างอาจารย์และนักศึกษา ลักษณะการคบเพื่อนอย่างเหมาะสม สุขภาพจิต และการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมในขั้นสูงมากกว่านักศึกษาที่มีการมุ่งอนาคตต่ำทั้งในนักศึกษารวมทั้งหมดและ กลุ่มย่อยหลายกลุ่ม ประการที่หก จิตลักษณะทั้ง 4 ด้านร่วมกันทำนายพฤติกรรมการทะเลาะวิวาทของนักศึกษาชายได้มากกว่า ลักษณะทางสังคม 2 ด้านร่วมกัน แต่เมื่อนำเอาตัวทำนาย 2 ชุดมาใช้ร่วมกันสามารถทำนายความแปรปรวนของพฤติกรรม การทะเลาะวิวาทได้เพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้นั้นปรากฎในนักศึกษา 3 ประเภทคือ นักศึกษาที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง นักศึกษาช่างก่อสร้าง และนักศึกษาที่มีอายุน้อยซึ่งแสดงว่าในนักศึกษาชาย 3 ประเภทนี้ จิตลักษณะและลักษณะทางสังคม ในสถานศึกษามีความสำคัญต่อพฤติกรรมการทะเลาะวิวาทมาก