วัตถุประสงค์ การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาของ ผู้ที่ทำงานราชการ โดยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ 3 ประการคือ 1. เพื่อเปรียบเทียบผู้ที่เรียนต่อกับผู้ที่ไม่เรียนต่อทางด้านทัศนคติต่อการเรียนต่อ และ บุคลิกภาพที่สำคัญบางประการ 2. เพื่อศึกษาว่า ผู้ที่อยู่ในสภาพเอื้ออำนวยต่อการเรียนต่อ และได้ไปเรียนต่อ หรือผู้ที่ยังไม่ไปเรียนต่อมีจิตลักษณะบาง ประการแตกต่างกัน และแตกต่างจากผู้ที่อยู่ในสภาพไม่เอื้ออำนวยอย่างไร 3. เพื่อแสวงหาตัวทำนาย และเปรียบเทียบอำนาจทำนายของตัวแปรต่าง ๆที่มีต่อพฤติกรรมการศึกษาต่อของบุคคล ประเภทต่าง ๆ วิธีดำเนินการวิจัย ในการวิจัยนี้ได้ศึกษา ผู้ที่เรียนต่อในระดับปริญญาโทของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตรที่ทำงานแล้ว และมีที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร และเขตจังหวัดใกล้เคียงจำนวน 120 คนและเพื่อนร่วมงานที่ทำงานในที่ทำงานเดียวกัน และไม่ได้มาเรียนต่อ 120 คน รวมเป็น 240 คน โดยมีคุณสมบัติตรงกัน 4 ประการ คือ 1) มีเพศเดียวกัน 2) จบการศึกษาระดับ ปริญญาตรี 3) มีระยะเวลาที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีต่างกันไม่เกิน 3 ปี และ 4) มีตำแหน่งหน้าที่การงานใกล้เคียงกัน กลุ่มตัวอย่าง เหล่านี้ได้ตอบแบบวัดและแบบสอบถามโดยมีตัวแปร 4 กลุ่ม 1) ตัวแปรทางด้านลักษณะ ทางชีวสังคมและภูมิหลัง ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม สถานภาพสมรส ซึ่งวัดโดยให้ผู้ตอบรายงาน และการรับรู้สถานภาพความมั่นคงในการทำงาน และปริมาณการรับรู้ภาระทางครอบครัว ซึ่งวัดโดยใช้แบบสอบถาม 2) ตัวแปร จิตลักษณะพื้นฐาน ได้แก่ ลักษณะบุคลิกภาพแบบเอ ความกลัวความล้มเหลว และความกลัวความสำเร็จ 3) ตัวแปรจิตลักษณะ ตามสถานการณ์ ได้แก่ การรับรู้การสนับสนุนทางสังคม ความเครียดในการทำงาน ทัศนคติที่ดีต่อการศึกษาต่อและการรับรู้ บรรทัดฐานทางสังคมต่อการศึกษาต่อ ซึ่งทุกตัวแปรใช้แบบวัด ซึ่งมีประมาณ 14 - 25 ข้อ และมีมาตร 6 หน่วยประกอบ 4) พฤติกรรมการศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาซึ่งรวมตัวแปรทางลักษณะชีวสังคมและภูมิหลัง 6 ตัวแปร และตัวแปรจิตลักษณะ และพฤติกรรม 8 ตัวแปร รวมเป็นตัวแปรทั้งสิ้น 14 ตัวแปร การวิเคราะห์ข้อมูล ในการวิจัยครั้งนี้ ได้ใช้วิธีการวิเคราะห์จำแนกประเภทแบบเป็นขั้นตอนและการ วิเคราะห์ความแปรปรวนแบบสามทาง เพื่อทดสอบสมมติฐาน 7 ข้อ การวิเคราะห์ทั้งหมดนี้วิเคราะห์โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ด้วยโปรแกรม SPSSx PC+ ซึ่งทำการวิเคราะห์ทั้งในกลุ่มรวมและกลุ่มย่อยที่แบ่งตามลักษณะทางชีวสังคมและภูมิหลัง อีก 6 ตัวแปร เป็น 12 กลุ่มย่อยทำให้สามารถเปรียบเทียบผลการวิเคราะห์ภายในตัวแปรทางชีวสังคมและภูมิหลังต่างระดับ ในตัวแปรเดียวกัน สรุปผล จากการวิจัยครั้งนี้ พบผลที่น่าสนใจ 5 ประการคือ ประการที่หนึ่ง พบว่า ตัวแปรที่ใช้ในการทำนาย 13 ตัวที่ใช้ใน การวิจัยนี้สามารถคาดคะเนพฤติกรรมการเรียนต่อได้ถูกต้องถึง 87 % โดยผู้เรียนต่อ มักเป็นผู้ที่มีอายุน้อยมีความเครียดในการ ทำงานสูง มีทัศนคติที่ดีต่อการศึกษาต่อมาก มีความกลัวความสำเร็จสูง มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างสูง มีการรับรู้ความมั่นคงในการทำงานสูง และเป็นคนโสด ประการที่สอง ผู้ที่ไม่มาเรียนต่อมักเป็นผู้ที่มีอายุมาก แต่จากการ วิเคราะห์ความแปรปรวนสามทาง ทำให้กล่าวได้ว่า ถ้าได้มีการเสริมสร้างทัศนคติที่ดีต่อการศึกษาต่อและเป็นคนที่มีลักษณะ บุคลิกภาพแบบเอสูงแล้ว คนที่มีอายุมากก็จะมาเรียนต่อ ประการที่สาม จากการที่พบว่าบุคคลที่มีการรับรู้สถานภาพ ความมั่นคงในการทำงานต่ำ มักจะไม่มาเรียนต่อ แต่จากการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบสามทาง ทำให้กล่าวได้ว่า ถ้ามีภาระทางครอบครัวน้อย และมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนต่อมาก บุคคลเหล่านี้มักจะมาเรียนต่อ ประการที่สี่ พบผลจากการวิจัยว่าในกลุ่มที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำนั้นไม่พบว่ามาเรียนต่อ แต่จากการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบสามทาง ทำให้กล่าวได้ว่าถ้าได้มีการส่งเสริมให้เขาได้มาเรียนในขณะมีอายุน้อย คนที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำก็จะมาเรียนต่อในระดับปริญญาโท และสุดท้าย ประการที่ห้า พบว่าคนที่มีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนต่อน้อยนั้น จะไม่ไปเรียนต่อ แต่จากการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบสามทาง ทำให้กล่าวได้ว่าถ้าได้รับการส่งเสริมจากบุคคลรอบข้างในเรื่องการเรียนต่อ ก็เป็นไปได้อย่างมากว่าเขาจะมาเรียนต่อ