วัตถุประสงค์ การวิจัยนี้มุ่งศึกษาตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ และการเลิกสูบบุหรี่ของครูชาย โรงเรียนมัธยมศึกษา จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีขอบเขตเฉพาะครูสังกัดกรมสามัญศึกษาที่สอนในโรงเรียนซึ่งเปิดสอนทั้ง ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายเท่านั้น จุดมุ่งหมายของการวิจัยนี้เพื่อ 1) หาความสัมพันธ์ ของกลุ่มตัวแปรที่สามารถจำแนกและทำนายครูชายที่เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จและไม่สำเร็จได้ชัดเจนที่สุด 2) เพื่อเปรียบเทียบ ลักษณะทางจิตของบุคคลที่มีพฤติกรรมเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ที่แตกต่างกัน 3) เพื่อเปรียบเทียบแรงจูงใจในการเลิกสูบบุหรี่และ พฤติกรรมการเลิกสูบบุหรี่ของครูชายที่เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จและไม่สำเร็จ วิธีดำเนินการวิจัย กลุ่มตัวอย่าง เป็นครูชายที่ได้มาจากการสุ่ม จำนวน 200 คน แบ่งเป็นกลุ่มละ 50 คน จำนวน 4 กลุ่มคือ 1) ผู้ไม่สูบบุหรี่ 2) ผู้สูบบุหรี่ (ไม่เคยพยายามเลิกสูบบุหรี่) 3) ผู้พยายามเลิกสูบบุหรี่แต่ไม่สำเร็จ(เลิกไม่ได้หรือเลิกได้แล้ว หวนกลับไปสูบใหม่) 4) ผู้เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ (ไม่หวนกลับไปสูบอีกเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี) เครื่องมือวัดที่ใช้ เป็นแบบสอบถามจำนวน 8 ฉบับคือ 1) สำรวจข้อมูลเบื้องต้น 2) ทัศนคติต่อการสูบบุหรี่ 3) ความกดดันในชีวิตประจำวัน 4) ความเชื่ออำนาจภายใน-ภายนอกตน 5) แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ 6) พฤติกรรมการสูบบุหรี่ 7) ทัศนคติต่อการเลิกสูบบุหรี่และ 8) พฤติกรรมการเลิกสูบบุหรี่ แบบสอบถามดังกล่าวใช้สอบถามกลุ่มตัวอย่างแตกต่างกัน คือ กลุ่มผู้ไม่สูบบุหรี่ตอบแบบสอบถามฉบับที่ 1-5 กลุ่มผู้สูบบุหรี่ตอบฉบับที่ 1-7 กลุ่มผู้พยายามเลิกสูบบุหรี่แต่ไม่สำเร็จ และกลุ่มผู้เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จตอบฉบับที่ 1-8 การประมวลและวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ SPSSx กำหนดระดับนัยสำคัญที่ .05 สรุปผลการวิจัย ผลการวิจัยพบว่าในกลุ่มตัวอย่างรายงานเกี่ยวกับอายุเฉลี่ยในเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ลองสูบบุหรี่เมื่ออายุ 17 ปี เริ่มสูบบุหรี่เป็นประจำเมื่ออายุ 21 ปี เริ่มพยายามเลิกสูบบุหรี่ครั้งแรกเมื่ออายุ 28 ปี เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จเมื่ออายุ 33 ปี สำหรับกลุ่มผู้ไม่สูบบุหรี่นั้นมีเพียงร้อยละ 16 เท่านั้นที่รายงานว่าไม่เคยลองสูบบุหรี่เลย ที่เหลือร้อยละ 84 เคยลองแต่ไม่สูบไม่ว่าจะสถานการณ์ใด ๆ รายงานเกี่ยวกับการเลิกสูบบุหรี่ พบว่ากลุ่มผู้สูบบุหรี่ร้อยละ 24 รายงานว่าไม่เคยคิดเลิกสูบบุหรี่เลย แต่อีกร้อยละ 60 รายงานว่าเคยคิดเลิกสูบอยู่บ้างแต่ไม่เคยพยายามทดลอง ที่เหลืออีกร้อยละ 16 ไม่ตอบคำถามนี้ สำหรับกลุ่มผู้พยายาม เลิกสูบบุหรี่แต่หวนกลับไปสูบใหม่ ส่วนใหญ่เคยเลิกมาแล้ว 2 ครั้งจำนวนครั้งที่หวนกลับมาสูบใหม่มากที่สุดคือ 9 ครั้ง ช่วงเวลาที่อดได้นานที่สุดก่อนหวนกลับมาสูบใหม่ส่วนใหญ่เป็นเวลา 1 เดือนโดยเฉลี่ยทนได้ 8 เดือน การวิเคราะห์จำแนกประเภท (Discriminant Analysis) พบว่าตัวแปรทุกตัวที่กำหนด คือ จำนวนบุหรี่ที่สูบ จำนวนบุคคลใกล้ชิดที่สูบบุหรี่ ความกดดันในชีวิตประจำวัน ทัศนคติต่อการสูบบุหรี่ ความเชื่ออำนาจภายใน-ภายนอกตน แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ พฤติกรรมการสูบบุหรี่ และทัศนคติต่อการเลิกสูบบุหรี่ ซึ่งตัวแปรทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วแยกเป็นตัวแปร ย่อย ๆ รวมทั้งสิ้น 22 ตัวแปรสามารถรวมกันจำแนกและทำนายความสำเร็จและไม่สำเร็จในการเลิกสูบบุหรี่ได้ถูกต้อง ถึงร้อยละ 73 แต่ ตัวแปรที่มีค่าน้ำหนักมากจำนวน 5 ตัวแปร สามารถรวมกันจำแนกและทำนายได้ถูกต้องถึงร้อยละ 70 ตัวแปรเหล่านั้น คือ การสูบบุหรี่แบบใช้เป็นสิ่งกระตุ้น การสูบบุหรี่แบบคุ้นเคยที่มีบุหรี่อยู่ในมือจำนวนคนในบ้านที่ สูบบุหรี่ความกดดันในชีวิตประจำวัน ด้านเศรษฐกิจและภาระหน้าที่ส่วนตน และทัศนคติต่อการเลิกสูบบุหรี่ ดังสมการทำนาย ที่ใช้คะแนนมาตรฐานดังนี้ D = .3703 V 28 - .5705 V 29 + .4795 V 2 + .4331 V 25 - .4893 V 34 การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) เปรียบเทียบตัวแปรลักษณะทางจิตระหว่างบุคคล ที่มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่แตกต่างกันจำแนกเป็นตัวแปรย่อย ๆ จำนวน 18 ตัวแปร พบว่า :กลุ่มผู้ไม่สูบบุหรี่มีทัศนคติ ต่อการสูบบุหรี่ทั้งสามด้านคือ ด้านสุขภาพ ด้านปฎิสัมพันธ์สังคม และด้านการดำรงชีวิตประจำวันสูงกว่ากลุ่มผู้สูบบุหรี่ กลุ่มผู้สูบบุหรี่มีทัศนคติต่อการสูบบุหรี่ด้านสุขภาพและทัศนคติต่อการเลิกสูบบุหรี่สูงกว่ากลุ่มผู้พยายามเลิกสูบบุหรี่แต่ ไม่สำเร็จกลุ่มผู้เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ มีทัศนคติต่อการสูบบุหรี่ด้านปฎิสัมพันธ์สังคมและด้านการดำรงชีวิตประจำวัน และทัศนคติต่อการเลิกสูบบุหรี่สูงกว่าผู้พยายามเลิกสูบบุหรี่แต่ไม่สำเร็จแต่มีความกดดันในชีวิตประจำวันด้านเศรษฐกิจ และภาระหน้าที่ส่วนตนต่ำกว่ากลุ่มผู้พยายามเลิกสูบบุหรี่แต่ไม่สำเร็จสำหรับความแตกต่างระหว่างกลุ่มผู้เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ และกลุ่มผู้พยายามเลิกสูบบุหรี่แต่ไม่สำเร็จนี้ในการวิเคราะห์จำแนกประเภทส่วน Univariateยังพบว่ามีตัวแปรที่แตกต่างกัน เพิ่มขึ้นอีกคือ ตัวแปรที่ผู้เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จมีค่าสูงกว่าคือ แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ส่วนตัวแปรที่ผู้เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ มีค่าต่ำกว่าคือ จำนวนคนในบ้านที่สูบบุหรี่ และความกดดันในชีวิตประจำวันด้านงานในหน้าที่ การวิเคราะห์ความแตกต่างของสัดส่วนด้านสถิติ X2 - test พบว่าจากแรงจูงใจในการเลิกสูบบุหรี่ทั้งหมด 4 ด้านคือ ด้านสุขภาพ ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านส่วนตนนั้นกลุ่มผู้เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จมีแรงจูงใจด้านสุขภาพมากกว่าด้านอื่น ๆ ขณะที่กลุ่มผู้พยายามเลิกสูบบุหรี่แต่ไม่สำเร็จมีแรงจูงใจด้านต่าง ๆ ไม่แตกต่างกัน ส่วนพฤติกรรมการเลิกสูบบุหรี่พบว่าวิธีที่ครู ชายผู้พยายามเลิกสูบบุหรี่ทั้งหลายเลือกใช้มาก 5 อันดับแรกจาก 14 พฤติกรรมที่กำหนด คือ 1) ไม่ซื้อบุหรี่สูบอย่างเด็ดขาด 2) พยายามบังคับตนเองให้เลิกสูบบุหรี่ในภาวะใดภาวะหนึ่งก่อน 3) นึกถึงโทษภัยของบุหรี่เมื่ออยากสูบ 4) นึกถึงสัจจะ ที่ได้ให้ไว้กับตนเองหรือผู้เกี่ยวข้องเมื่ออยากสูบ และ 5) ใช้สิ่งอื่นทดแทนบุหรี่ แต่จากการรายงานผลสำเร็จพบว่า ผู้เลิก สูบบุหรี่ได้สำเร็จรายงานว่าวิธีที่มีผลต่อการเลิกสูบบุหรี่ของเขาคือ ระลึกถึงสัจจะที่ได้ให้ไว้แก่ตนเองและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ส่วนบุคคลผู้พยายามเลิกสูบบุหรี่แต่ไม่สำเร็จรายงานว่าวิธีที่มีผลต่อการเลิกสูบบุหรี่ของเขา คือ ลดจำนวนบุหรี่ที่ซื้อลงเรื่อย ๆ ใช้สิ่งอื่นทดแทนบุหรี่ และพยายามบังคับตนเองให้เลิกสูบบุหรี่ในภาวะใดภาวะหนึ่ง