วัตถุประสงค์ การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ 3 ประการคือ ต้องการหาวิธีการฝึกเพื่อพัฒนาความเชื่ออำนาจในตน ต้องการหาปริมาณการฝึกที่เหมาะสมและต้องการทราบว่าบุคคล ที่มีลักษณะใดจึงเหมาะสม และได้รับประโยชน์จากการฝึกมากที่สุด ส่วนจุดมุ่งหมายทางการวิจัยมี 3 ข้อด้วยกัน ประการแรก เพื่อศึกษาผลของการให้และระยะเวลาของการให้แรงเสริมด้วยเบี้ยรางวัลที่มีต่อการพัฒนา ลักษณะความเชื่ออำนาจในตน และสุขภาพจิตของนักเรียนประถมตอนปลาย ประการที่สอง เพื่อศึกษาว่านักเรียนที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ในปริมาณที่ต่างกันเมื่ออยู่ในสภาพการ ใช้วิธีเบี้ยรางวัล และไม่อยู่ในสภาพการใช้วิธีเบี้ยรางวัลจะมีความเชื่ออำนาจในตน และสุขภาพจิตต่างกันหรือไม่ และ ประการที่สาม เพื่อศึกษาว่านักเรียนที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบใช้เหตุผลมากและน้อยเมื่อได้รับการ ให้แรงเสริมด้วยเบี้ยรางวัล จะมีความเชื่ออำนาจในตน และสุขภาพจิตต่างกันอย่างไร วิธีดำเนินการวิจัย กลุ่มตัวอย่าง ที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วยนักเรียนชายและหญิงชั้นประถมปีที่ 5 จำนวน 154 คน อายุระหว่าง 10 - 13 ปี จากโรงเรียน 2 แห่งในจังหวัดนครราชสีมา นักเรียนในแต่ละโรงเรียนได้ถูกจัดเข้าสภาวะต่าง ๆ 4 สภาวะโดยวิธีการสุ่ม ซึ่งสภาวะทั้ง 4 นี้เป็นสภาวะผสมที่เกิดจากการจับคู่กันระหว่างการมี หรือไม่มีข้อตกลงในการให้รางวัล กับการให้รางวัลตาม หรือไม่ตามระเบียบ เป็น 4 สภาวะดังนี้คือ สภาวะการใช้วิธีเบี้ยรางวัล (มีข้อตกลงและได้รับรางวัล ตามระเบียบ) สภาวะการใช้สัญญา (มีข้อตกลงแต่ได้รับรางวัลไม่ตามระเบียบ) สภาวะการให้รางวัลอย่างมีระเบียบ (ไม่มี ข้อตกลงแต่ได้รับรางวัลตามระเบียบ) และสภาวะการให้รางวัลตามสะดวก (ไม่มีข้อตกลงและได้รับรางวัลไม่ตามระเบียบ) ในการฝึกทำโดยให้นักเรียนเล่นเกม ซึ่งเป็นเกมที่เล่นตามลำพัง และต้องใช้ความพยายามในการเล่นเพื่อให้ได้รับรางวัล ซึ่งจะมีการให้ตามสภาวะต่าง ๆ 4 สภาวะที่ได้กล่าวมาแล้ว นักเรียนในทั้ง 4 สภาวะได้รับการฝึก 15 ครั้ง ๆ ละ 30 - 60 นาที โดยทำการฝึกติดต่อกันทุกวัน วันละครั้ง ในการวิจัยนี้ได้มีการวัดผลการทดลอง 3 ช่วงเวลาด้วยกันคือ เมื่อฝึกไปได้ 1/3 2/3 และ 3/3 ของการฝึกทั้งหมด เครื่องมือที่ใช้ ในการวัดตัวแปรต่าง ๆ ในการวิจัยนี้มี 7 ชนิดคือ 1) แบบวัดการอบรมเลี้ยงดูแบบ ใช้เหตุผล 2) แบบวัดแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ 3) แบบสอบถามภูมิหลัง 4) แบบวัดความเชื่ออำนาจในตน 5) แบบวัดความเชื่อ อำนาจในตนเฉพาะสถานการณ์การเล่นเกม 6) แบบวัดสุขภาพจิต 7) แบบวัดการตรวจสอบผลการจัดกระทำ แบบวัด 3 ฉบับแรกเป็นแบบวัดที่วัดก่อนการทดลองเพื่อแบ่งประเภทของผู้ถูกศึกษา แบบวัดฉบับที่ 4 - 7 เป็นแบบวัดตัวแปรตาม ส่วนเกมต่าง ๆ นั้นใช้กระตุ้นพฤติกรรมของนักเรียน เพื่อที่จะได้รับการเสริมแรงภายหลัง การวิจัยนี้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลหลายวิธีด้วยกันคือ การวิเคราะห์ความแปรปรวนสามทางแบบแฟคทอเรียน การวิเคราะห์ความแปรปรวนสามทางแบบวัดซ้ำการวิเคราะห์แบบถดถอยพหุคูณเป็นขั้นและการหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ ระหว่างตัวแปรทีละคู่ ในส่วนการวิเคราะห์ความแปรปรวนสามทางแบบแฟกทอเรียลเป็นการวิเคราะห์เพื่อตรวจสอบ สมมติฐานทั้ง 6 ข้อ ส่วนการวิเคราะห์ในส่วนอื่น ๆ เป็นการวิเคราะห์เพื่อศึกษาผลการวิจัยให้ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น การวิเคราะห์กระทำในกลุ่มรวม และกลุ่มย่อย ที่แบ่งตามตัวแปรที่เป็นลักษณะผู้ถูกศึกษาและตัวแปรทางชีวสังคม สรุปผล ผลการวิเคราะห์ที่สำคัญมี 2 ประการดังนี้ ประการแรกพบว่า นักเรียนที่อยู่ในสภาวะการใช้วิธีเบี้ยรางวัล มีความเชื่ออำนาจในตนทั่วไปสูงขึ้น ความเชื่ออำนาจในตนเฉพาะสถานการณ์คงที่ และมีสุขภาพจิตเสื่อมรวมลดลง ความวิตกกังวลลดลง และความก้าวร้าวลดลง แต่ความซึมเศร้าคงที่ตลอดเมื่อปริมาณการฝึกเพิ่มขึ้นส่วนในสภาวะการ ให้สัญญา นักเรียนที่มีความเชื่ออำนาจในตนทั่วไปคงที่ส่วนความเชื่ออำนาจในตนเฉพาะสถานการณ์ลดลงมีสุขภาพจิต เสื่อมลง และความก้าวร้าวมากขึ้น มีความวิตกกังวลคงที่ ส่วนความซึมเศร้ามากขึ้นแล้วลดลงส่วนในกลุ่มการให้รางวัล อย่างมีระเบียบ และกลุ่มควบคุมพบผลที่ไม่ชัดเจน ผลการวิจัยส่วนนี้แสดงว่าสภาพการใช้วิธีเบี้ยรางวัลให้ผลดีที่สุด ต่อความเชื่ออำนาจในตนและสุขภาพจิตของนักเรียน ผลการวิเคราะห์ข้อมูลอีกส่วนหนึ่ง พบว่านักเรียนที่อยู่ในสภาวะการใช้วิธีเบี้ยรางวัล คือ กลุ่มที่มีข้อตกลง และให้รางวัลตามระเบียบทั้งสองประการ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับทั้งสองประการ) และในสภาวะ การให้รางวัลตามระเบียบ (เมื่อเปรียบเทียบกับการให้รางวัลที่ไม่ตามระเบียบ) ในการวัดครั้งแรก (หลังเล่นเกมไปได้ 5 คาบ จาก 15 คาบ) นักเรียนในสภาะทั้งสองประการข้างบนนี้ มีความเชื่ออำนาจในตนสูงกว่านักเรียนในสภาวะที่นำมาเปรียบเทียบ แต่นักเรียนเหล่านี้กลับมีสุขภาพจิตเสื่อมในหลายด้านที่ศึกษากว่าในสภาวะเปรียบเทียบผลเช่นนี้ปรากฎเด่นชัดมากในนักเรียน ที่ผลการเรียนสูง มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูง และรายงานว่าถูกอบรมเลี้ยงดูแบบใช้เหตุผลมาก แต่เมื่อเล่นเกมเสร็จแล้วล่วงไปอีก 2 สัปดาห์มีการวัดจิตลักษณะเหล่านี้ซ้ำอีกก็พบว่าสุขภาพจิตในหลายด้านที่ศึกษานั้นไม่แตกต่างกันในนักเรียนที่ได้รับ สภาวะที่แตกต่างกันแต่ลักษณะความเชื่ออำนาจในตนทั่วไปของนักเรียนในสภาวะการใช้วิธีเบี้ยรางวัลและสภาวะการให้รางวัล ตามระเบียบที่กล่าวมานี้ สูงกว่าสภาวะที่นำมาเปรียบเทียบ ผลนี้เด่นชัดที่สุดในนักเรียนหญิง นอกจากนี้ยังพบว่าการมีหรือไม่มี ข้อตกลงในการให้รางวัล เป็นตัวทำนายที่สำคัญหนึ่งใน 3 ตัว (จากที่ใช้ทั้งหมด 20 ตัว) ของความเชื่ออำนาจในตนทั่วไปโดย นักเรียนที่ได้รับข้อตกลงในการให้รางวัลมักมีความเชื่ออำนาจในตนทั่วไปต่ำในการวัดครั้งที่ 3 ส่วนการให้รางวัลตามระเบียบ หรือไม่ตามระเบียบเป็นตัวทำนายที่เข้าสู่สมการทำนายความเชื่ออำนาจในตนเฉพาะสถานการณ์ในการวัดครั้งที่ 3 เป็นลำดับที่ 1 (โดยใช้ตัวทำนายทั้งหมด 20 ตัวเช่นกัน) โดยนักเรียนในสภาวะการให้รางวัลตามระเบียบมักเป็นผู้มีความเชื่ออำนาจ ในตนตามสถานการณ์สูงด้วย