วัตถุประสงค์ การวิจัยเรื่อง "ผลของการใช้การชักจูงที่มีต่อเจตคติเกี่ยวกับวิธีการบำบัดรักษาในขั้นพื้นฟู สมรรถภาพของผู้ติดยาเสพติด" เป็นการวิจัยเชิงทดลอง ที่มีจุดมุ่งหมายสำคัญ 2 ประการ คือ (1) เพื่อศึกษาผลของการ ใช้การชักจูงที่มีต่อเจตคติเกี่ยวกับวิธีการบำบัดรักษาในขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ติดยาเสพติด โดยนำเอาระดับการศึกษา และสถานภาพคนไข้ เข้ามาร่วมศึกษาด้วย (2) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้การชักจูง ความตั้งใจในการเข้ารับการ บำบัดรักษา กับพฤติกรรมเข้ารับการบำบัดรักษาในขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพ วิธีดำเนินการวิจัย กลุ่มตัวอย่าง ที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นคนไข้ยาเสพติดเพศชายที่เข้ารับการบำบัดรักษาแบบคนไข้ใน เป็นระยะเวลา 15 - 20 วัน ในโรงพยาบาลธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ กระทรวง สาธารณสุข จำนวนทั้งสิ้น 120 คน กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดได้รับการสอบถามว่า มีความตั้งใจที่จะเข้ารับการบำบัดรักษาต่อ ในขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพในวันที่ 15 ของการบำบัดรักษาหรือไม่ จากนั้นจึงแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น กลุ่มทดลอง จำนวน 60 คน และกลุ่มควบคุม จำนวน 60 คน กลุ่มทดลองจะได้รับการชักจูง ส่วนกลุ่มควบคุม จะไม่ได้รับการชักจูง แต่ละกลุ่มประกอบด้วยคนไข้ใหม่ที่มีระดับการศึกษาสูง 15 คน และมีระดับการศึกษาต่ำ 15 คน คนไข้เก่าที่มีระดับการศึกษาสูง 15 คน และมีระดับการศึกษาต่ำ 15 คน การชักจูง ที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ภาพสไลด์พร้อมคำบรรยายประกอบเกี่ยวกับวิธีการบำบัดรักษาในขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพเป็นเวลา ประมาณ 25 นาที ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับการชักจูงจะจัดให้เข้ากลุ่มกิจกรรมที่จัดขึ้นตามปกติ หลังจากนั้นกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด จะได้ตอบแบบวัดเจตคติ เกี่ยวกับวิธีการบำบัดรักษาในขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพ ซึ่งมีทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่ ด้านสถานที่และ สภาพแวดล้อม ด้านระยะเวลาที่อยู่บำบัดรักษา ด้านกฎและระเบียบ ด้านกลุ่มกิจกรรม และด้านผลที่จะได้รับจากการบำบัดรักษา แบบวัดเจตคตินี้ผู้วิจัยได้สร้างขึ้นตามวิธีของลิเขิต และเมื่อกลุ่มตัวอย่างรับการบำบัดรักษาครบ 21 วันแล้ว ผู้วิจัยจะสังเกต พฤติกรรมการเข้ารับการบำบัดรักษาต่อในขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพของกลุ่มตัวอย่าง ทั้งที่เป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม เครื่องมือที่ใช้ ในการวิจัยครั้งนี้มี 2 ชนิด ก) แบบสอบถาม ซึ่งแบ่งเป็นสองตอนตอนแรกเป็นแบบสอบถาม สภาพแวดล้อมทางชีวสังคมและภูมิหลัง ตอนสองเป็นแบบวัดเจตคติเกี่ยวกับวิธีการบำบัดรักษาในขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพ ข) การชักจูงซึ่งเป็นภาพสไลด์ประกอบคำบรรยาย ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับโทษของการติดยาเสพติดและวิธีการบำบัดรักษา ในขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพ สรุป ผลการวิจัยในครั้งนี้ พอสรุปผลที่สำคัญ คือ กลุ่มคนไข้ที่มีระดับการศึกษาต่ำและไม่ได้รับการชักจูงมีเจตคติ เกี่ยวกับวิธีการบำบัดรักษาในขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพด้านสถานที่และสภาพแวดล้อมดีกว่ากลุ่มคนไข้ที่มีระดับการศึกษาสูง และไม่ได้รับการชักจูง และกลุ่มคนไข้ที่มีระดับการศึกษาต่ำและได้รับการชักจูงผลเช่นนี้พบเฉพาะในกลุ่มคนไข้ที่มี ความตั้งใจในการเข้ารับการบำบัดรักษา นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มคนไข้ที่มีระดับการศึกษาสูงและได้รับการชัดจูง กลุ่ม คนไข้ที่มีระดับการศึกษาต่ำและได้รับการชักจูง และกลุ่มคนไข้ที่มีระดับการศึกษาต่ำและไม่ได้รับการชักจูงมีเจตคติ เกี่ยวกับวิธีการบำบัดรักษาในขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพด้านระยะเวลาที่อยู่บำบัดรักษาดีกว่ากลุ่มคนไข้ที่มีระดับการศึกษาสูง และไม่ได้รับการชักจูง ซึ่งพบเฉพาะในกลุ่มคนไข้ที่มีความตั้งใจในการเข้ารับการบำบัดรักษาเช่นเดียวกัน ผลการวิจัยที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งพบว่า กลุ่มคนไข้ที่ได้รับการชักจูงเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมการเข้ารับการบำบัดรักษา ในขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพ ผลเช่นนี้พบเฉพาะในกลุ่มคนไข้ใหม่ นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มคนไข้ที่มีความตั้งใจในการเข้ารับ การบำบัดรักษาต่อในขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพ เป็นผู้ที่มีพฤติกรรมการเข้ารับการบำบัดรักษาในขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพ ผลการวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า การใช้การชักจูง มีผลต่อเจตคติเกี่ยวกับวิธีการบำบัดรักษาในขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพเพียง 2 ด้านเท่านั้น คือ ด้านสถานที่และสภาพแวดล้อม และด้านระยะเวลาที่อยู่บำบัดรักษา ดังนั้นจึงควรนำการชักจูงไปใช้ในกลุ่ม คนไข้ที่มีระดับการศึกษาสูง ซึ่งไม่มีความตั้งใจในการเข้ารับการบำบัดรักษา ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างให้คนไข้ประเภทนี้ มีเจตคติที่ดีต่อวิธีการบำบัดรักษาในขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพด้านสถานที่และสภาพแวดล้อมและด้านระยะเวลาที่อยู่บำบัดรักษา