RB 523

BEHAVIOR  ANALYSIS AND BEHAVIOR MODIFICATION

 

บทความวิชาการ

พฤติกรรมกล้าแสดงออก

 

เสนอ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประทีป    จินงี่

 

โดย

นางสาววันวิสา         สรีระศาสตร์             49299080165

นายปริญญา             ป้องรอด            49299080167

นางสาวจุฑารัตน์       กิตติเขมากร        49299080178

 

ปีการศึกษา 2/2550

สาขาวิชาการวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ประยุกต์

ภาคพิเศษ  รุ่น 6

สถาบันพฤติกรรมศาสตร์

 

 

จดหมายถึงเอ๋ฉบับสุดท้าย : พฤติกรรมกล้าแสดงออก

Text Box:                                                                                                                         

                                                                                                                        หมู่บ้านทอแสง   ถ.พหลโยธิน

                                                                                                                        ต.แม่ริม   อ.แม่สาย

                                                                                                                                    จ.เชียงราย

                                                                                                                                    10   มกราคม   2551

TO..  เอ๋ที่รักและคิดถึง

 

            ก่อนอื่นก็ต้องขอขอบคุณเป็นอย่างมากที่กรุณาส่ง ส.ค.ส. มาให้  สวยและน่ารักดี  นึกว่าจะลืมกันแล้วเชียว  ขอให้มีความสุขเช่นกันน่ะ  ผมอยู่เชียงรายก็เหงาพอสมควร  อากาศตอนนี้ก็หนาวมากด้วย  แต่ที่สำคัญกุหลาบที่ปลูกเอาไว้ในสวนตอนนี้ออกดอกตระการตาไปหมด  ว่าง ๆ ก็มาเที่ยวซิที่นี่สวยตอนนี้สวยงามมาก  แล้วที่กรุงเทพเป็นอย่างไรบ้าง  ผมไม่ได้กลับไปนานแล้ว  ตั้งแต่เกษียณมา 7 ปีเนี่ย  ไม่ได้ไปไหนเลย  ที่กรุงเทพคงวุ่นวายเหมือนเดิมน่ะ   สำหรับเรื่องที่เอ๋จะขอ รศ. น่ะผมสนับสนุนเต็มที่เลย  ถือว่าเป็นความก้าวหน้าทางวิชาการและการทำงานและที่สำคัญได้เงินเพิ่มด้วย  รวยเมื่อไหร่ก็อย่าลืมเพื่อนเก่าชาวเจียงฮายเน้อ

            ส่วนเรื่องที่เอ๋ขอข้อมูลเพื่อประกอบการทำผลงานทางวิชาการเกี่ยวกับเรื่องพฤติกรรมกล้าแสดงออกน่ะ  ผมได้ค้นคว้ามาให้แล้ว จะอธิบายให้ฟังคร่าว ๆ ก่อนก็แล้วกัน  ส่วนรายละเอียดนั้นจะส่งไปให้ก็ได้ถ้าเรื่องที่ผมได้มานี้ตรงกับความต้องการ   เริ่มกันเลยน่ะ

            พฤติกรรมกล้าแสดงออก  เอ๋รู้ไหมว่ามาหมายถึงอะไร  งานวิจัยหลายชิ้นให้ความหมายที่แตกต่างกันออกไปบ้างแต่ก็ไม่มากนักทั้งนี้ก็ขึ้นกับวัตถุประสงค์ของงานวิจัยแต่ละชิ้นที่แตกต่างกันออกไปนั่นแหละ  แต่อย่างไรก็ตาม  เรื่องเดียวกันอย่างไรเสียมันก็ต้องมีจุดที่เหมือนกันซึ่งถือเป็นสาระสำคัญหลัก ๆ พอสรุปได้คือ  พฤติกรรมกล้าแสดงออก  ก็หมายถึง ความสามารถในการแสดงออกด้านการคิด  การพูด การกระทำ  ซึ่งรวมถึงอารมณ์ความรู้สึกด้วย  ทั้งนี้  ความสามารถในการแสดงออกดังกล่าวของบุคคลต่อสถานการณ์ต่าง ๆ นั้นจะต้องเป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสมเป็นที่ยอมรับของสังคมโดยไม่ไปก้าวก่ายหรือล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น  และที่สำคัญ เมื่อเจ้าตัวแสดงออกไปแล้วจะต้องไม่รู้สึกผิดด้วยน่ะ

            ทีนี้เมื่อเอ๋พอที่จะรู้ถึงความหมายของคำว่า”พฤติกรรมกล้าแสดงออก”  แล้ว สิ่งที่น่าสนใจประเด็นถัดมาคือการแสดงออกด้านอารมณ์ความรู้สึก  การคิด  การพูด การกระทำ  ที่ว่าเนี่ย เป็นอย่างไร  แล้วที่ว่าถูกต้องเหมาะสมคืออะไร  ผมก็จะอธิบายสั้น ๆ ให้ฟังคือว่า การแสดงออกด้านอารมณ์ความรู้สึก อันนี้ก็ไม่มีอะไรมาก  เอ๋เคยโกรธ  ดีใจ   เสียใจไหมล่ะ?  โกรธแล้วแสดงอะไรออกมา  ดีใจแล้วแสดงอะไรออกมา  เสียใจแล้วแสดงอะไรออกมา  ลักษณะอย่างนี้ถือว่าเป็นการแสดงออกทางด้านอารมณ์   เอ๋คงมองภาพออกน่ะ  ส่วนด้านการคิดนั้น  เป็นพื้นฐานของคำพูดและการกระทำ  โบราณเขาถึงบอกว่า  “พูดโดยไม่คิดเป็นเรื่องผิดมหาศาล   คิดแต่ไม่พูดเป็นเรื่องพลาดมโหฬาร ”  ดังนั้น  จะเห็นได้ชัดว่า การคิดเป็นเป็นพื้นฐานของการพูดและการกระทำ เช่น  การใช้คำพูดสะท้อนความคิดเห็น  การใช้คำพูดวิพากษ์วิจารณ์  เหล่านี้เป็นต้น   ที่นี้มาพิจารณาเรื่องการพูดบ้าง  การพูดก็เป็นการแสดงออกอย่างหนึ่ง  ซึ่งเป็นการแสดงออกซึ่งความสามารถในการใช้ภาษา  ในโอกาสต่าง ๆ เช่น  การกล่าวทักทาย  การขอบคุณ  การขอโทษ  การปฏิเสธ  การขอร้อง  เป็นต้น  ส่วนเรื่องการกระทำนั้น เป็นการแสดงออกโดยการทำกริยาอาการต่าง ๆ  ซึ่งเป็นไปได้ทั้งสีหน้าและท่าทาง    สำหรับอีกประเด็นหนึ่งคือ  ที่ว่าถูกต้องเหมาะสม  เป็นอย่างไร   ก็ถูกต้องตามความเป็นจริง  และเหมาะสมกับโอกาส  บุคคล  เวลา  และสถานที่ นั่นเอง  เอ๋คงพอเข้าใจขึ้นมาบ้างแล้วนะ 

แต่อย่างไรก็ตาม  เอกสารงานวิจัยที่ผมได้คนคว้ามาเนี่ย  ล้วนแล้วแต่เป็นงานวิจัยที่เกี่ยวกับการปรับพฤติกรรมกล้าแสดงออกด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเขาทำได้ผลดีนะ  และพฤติกรรมกล้าแสดงออกที่ว่ามานี้เขาเน้นศึกษาที่การพูดและการกระทำเป็นหลัก  ซึ่งเขาก็ทดลองกับทั้งเด็ก  วัยรุ่นและผู้ใหญ่  แต่ผมมีขอสังเกต คือ งานวิจัยที่ผมได้มานั้น 9 ชิ้นทดลองกับเด็กระดับชั้นประถม-มัธยม   ก็มีวัยรุ่นอยู่ชิ้นหนึ่งที่เขาทดลองกับนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่  และผู้ใหญ่อีกหนึ่งชิ้นทดลองจิตเภท อันนี้ก็ขอบอกไว้ก่อนเพื่อให้เอ๋มองภาพเกี่ยวกับข้อมูลที่ชัดยิ่งขึ้นไงล่ะ 

พูดถึงเรื่องงานวิจัย   ผมก็กำลังหางานวิจัยที่เขาปรับพฤติกรรมของคนแก่อยู่เหมือนกัน   ไม่รู้มีใครเขาศึกษาไว้บ้างที่เชียงรายแหล่งข้อมูลน้อย  ถ้าที่กรุงเทพมีรบกวนเอ๋ช่วยสำเนาส่งให้ด้วยนะ  เพราะมีความจำเป็นกับผมมากในขณะนี้  เผื่อปะเหมาะเคราะห์ดีจะได้ปรับพฤติกรรมการบ่นของสาวเหลือน้อยที่นั่งหาวอยู่นอกชานบ้าง  หากปรับพฤติกรรมการบ่นลงได้คงผาสุกขึ้นเยอะเลยที่เดียวเชียว   เคยไปปรึกษาหลวงพ่อที่วัดเหมือนกัน  แต่ท่านช่วยไม่ได้อ้างว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์   เอาหละผมจะเล่าเรื่องพฤติกรรมกล้าแสดงออกต่อก็แล้วกัน

เอ๋ก็รู้ใช่ไหมว่า  คนเรามันไม่ได้กล้าแสดงออกกันทุกคนและทุกเรื่องหรอก  คนที่กล้าแสดงออกตามภาษาชาวบ้านบางครั้งมันคนละเรื่องกับพฤติกรรมกล้าแสดงออกในทางวิชาการ   เพราะการกล้าแสดงออกตามทัศนะชาวบ้านเป็นการแสดงออกของส่วนบุคคลที่ทำได้อยู่แล้ว  มีความกล้าอยู่แล้ว  มีความสามารถ  มีพรสวรรค์และเขาเป็นของเขาอย่างนั้นอยู่แล้ว  หรืออย่างน้อยก็มีแนวโน้มสูงที่จะเป็นอย่างนั้น  ส่วนพฤติกรรมกล้าแสดงออกทางวิชาการนั้นจะแตกต่างจากทัศนะของชาวบ้านอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ  บ้าง  โดยจะให้ความสำคัญกับพฤติกรรมกล้าแสดงออกที่กำหนดเป็นพฤติกรรมเป้าหมาย  และการที่จะทำให้ปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มบุคคลมีพฤติกรรมกล้าแสดงออกตามที่กำหนดเป็นพฤติกรรมเป้าหมายนั้น  เขาก็ไม้ได้ทำส่งเดชหรอกน่ะ   เขามีหลักการมีทฤษฎี  มีขั้นตอนต่าง ๆ   มีการจดบันทึก  มีการวัด  มีการวิเคราะห์  รวมถึงการสรุปผล ทำให้วิธีการต่าง ๆ มีประสิทธิภาพและมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

สำหรับการที่จะทำให้บุคคลหรือกลุ่มบุคลมีพฤติกรรมกล้าแสดงออกตามที่กำหนดเป็นพฤติกรรมเป้าหมายนั้น มีหลักการ  แนวคิด ทฤษฎี ต่าง ๆ  มากมาย  ที่เราสามารถนำไปประยุกต์รวมกับเทคนิคหรือกลวิธีในการปรับพฤติกรรมหรือการฝึกพฤติกรรมกล้าแสดงออกได้  ซึ่งในจดหมายฉบับนี้ผมจะอธิบายให้รู้พอสังเขปเท่านั้นนะ   รายละเอียดค่อยว่ากันทีหลังก็แล้วกัน     แนวคิดที่เขาใช้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแนวคิดแรกที่ผมจะเล่าให้ฟังคือ  แนวคิดของ Salter ซึ่งได้ประยุกต์หลักการกระตุ้น (Excitation) และการระงับยั้ง (Inhibition)  โดย Salter เชื่อว่าเมื่อมีแรงกระตุ้นที่มีความเข้มสูงคนจะแสดงพฤติกรรมในเชิงปฏิบัติและมีอิสระทางอารมณ์  เป็นตัวของตัวเอง  แต่หากการระงับยั้ง  มีความเข้มข้นสูง การแสดงพฤติกรรมก็จะเป็นไปในลักษณะตรงกันข้าม  การใช้แรงกระตุ้นต้องใช้คู่กับหลักการวางเงื่อนไข  เพื่อให้พลังกระตุ้นมีความเข้มมากกว่าพลังยับยั้ง  ซึ่งได้แก่การให้คำชม  การให้กำลังใจ  หรือการให้รางวัลอย่างอื่น ๆ   แนวคิดนี้ก็ไม่ซับซ้อนอะไรมากอธิบายพอสังเขปเอ๋ก็คงเข้าใจนะ  เผื่อว่าจะได้ใช้ในชีวิตจริงบ้าง   การคำชม   การให้กำลังใจโดยการพูดเนี่ย   ส่วนตัวเราถือว่าเป็นปิยิวาจา   ส่วนปฏิสัมพันธ์ระหว่างเรากับเขาเรียกว่า        การสร้างกุศลกรรมประเภทวจีสุจริต  ว่าไปนั่นเลยนาจะบอกให้

แนวคิดที่เขาใช้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแนวคิดถัดมาคือแนวคิดของ Skinner ไงละ  เอ๋พอรู้ใช่ไหมว่า Skinner เนี่ยเป็นเจ้าของแนวคิดทฤษฎีการวางเงื่อนไขโดยการกระทำ  ภาษาอังกฤษเรียกว่า The  operant Condition  ซึ่งมีหลักใหญ่ใจความว่า  พฤติกรรมเป็นการตอบสนองของบุคคลซึ่งแสดงออกในสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่และถูกควบคุมด้วยผลกรรม (Consequence) ที่ได้รับหลังจากแสดงพฤติกรรม    ฟังหลักการเขาแล้วก็อาจงงหรือสับสนบ้าง  ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็แล้วกัน  เช่น  การกินข้าวของหนูแก้ม   ซึ่งหนูแก้มเป็นคนกินข้าวเสียงดังมากถือว่าไม่เรียบร้อย  ทั้งการเคี้ยวและการตักอาหาร  เป็นอย่างนี้ตลอดเลย  แม่ต้องการให้หนูแก้มมีสมบัติผู้ดี  เลยตวาดไปแว็ดหนึ่งพร้อมทั้งมีคำพูดติดตามมานิดหน่อยพอหอมปากหอมคอ  ปรากฏว่าหนูแก้มกินข้าวเรียบร้อยขึ้นเยอะนับจากนั้นมา  จากตัวอย่างนี้เอ๋ก็จะเห็นว่า การกินข้าวเป็นสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อม  การกินข้าวที่มีเสียงดังเป็นพฤติกรรม  และเสียงตวาดแว็ดของแม่เป็นผลกรรมที่ตามหลังพฤติกรรมการกินข้าวเสียงดัง  ซึ่งมีผลทำให้พฤติกรรมการกินข้าวของแก้มเรียบร้อยขึ้น  อย่างนี้เป็นต้น  ยังไงถ้าเอ๋ต้องการรายละเอียดมากกว่านี้ก็หาอ่านได้จากหนังสือเกี่ยวกับจิตวิทยา   หรือไม่ก็หนังสือเกี่ยวกับการปรับพฤติกรรมน่ะ  มีชัวร์เพราะของเขาออกจะดังและทฤษฎีการวางเงื่อนไขโดยการกระทำเนี่ย   สามารถนำมาปรับเป็นเทคนิคและวิธีการปรับพฤติกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีเลยแหละ 

ที่เล่ามาสองแนวคิดหวังว่าเอ๋คงไม่สับสนน่ะ  หากสับสนก็กลับขึ้นไปอ่านใหม่อีกรอบก็แล้วกัน (เอ้า ! แล้วจะพูดมาทำไมละเนี่ย)  เอ๋สงสัยเหมือนผมไหมว่า  แล้วคนไม่ปกติซึ่งไม่ได้หมายถึงคนพิการน่ะ  แต่หมายถึงผู้ป่วยโรคจิตเภทต่างหากล่ะ  ซึ่งคนหละนี้เราจะจัดสรรวิธีการปรับพฤติกรรมให้กับเขาอย่างไร   ก่อนอื่นต้องชี้แจงให้เห็นสัจจะธรรมก่อนว่าของโลกประการหนึ่งก่อนว่า  เป็นเรื่องที่แปลกนะ  คนดี ๆ อยู่กันตั้งแต่สองคนขึ้นไปมีปัญหาเยอะแยะ  ไม่เรื่องนั้นก็เรื่องนี้  ไม่เรื่องนี่ก็เรื่องโน่น ทะเลาะกันมีปัญหากัน  ถ้าอยู่ในองค์กรก็แบ่งพรรคแบ่งพวกปัดแข้งปัดขากัน  อะไรทำนองนี้  แต่ผู้ป่วยโรคจิตเภทตามโรงพยาบาลจิตเวชน่ะ  เอ๋ไปดูเถอะเขาสมานฉันท์กันดี  อยู่กันตั้งเยอะแยะไม่เคยพวกตีกันหรือทะเลาะกันเลย  เขาต่างคนต่างอยู่ไม่วุ่นวายกัน  แปลกดีน่ะ   ก็เพราะเป็นอย่างนี้ไงละถึงเกิดปัญหาขึ้นมา   ปัญหาอะไรใช่ไหม  ก็เป็นปัญหาที่ว่าพอหมอเขารักษาจนอาการดีขึ้นแล้ว  ผู้ป่วยจิตเภทเนี่ยกลับมีความบกพร่องด้านการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น  อาการต่างคนต่างอยู่สมัยที่ป่วยอยู่นั้น    มีผลทำให้ผู้ป่วยจิตเภทที่มีอาการดีขึ้นเข้ากับเพื่อนไม่ได้  (จริง ๆ แล้ว  เมื่อเข้ากับเพื่อนผู้ป่วยด้วยกันไม่ได้  ก็น่าจะคบหมอคบพยาบาลเป็นเพื่อนไปเลยก็สิ้นเรื่องเนาะ)  ปัญหาแบบนี้เขาก็มีทางแก้ไขอยู่เหมือนกัน  โดยการฝึกฝนพฤติกรรมที่เป็นปัญหาโดยตรงรวมถึงการใช้เทคนิคต่าง ๆ ที่เหมาะสมด้วย  อันนี้มีงานวิจัยเขาศึกษาและทดลองเอาไว้เช่นกัน   ใจเย็น ๆ เดี๋ยวเล่าให้ฟ้งรอไปก่อน   ตอนนี้ผมก็จะเล่าแนวคิดทฤษฎีสำหรับปรับเป็นเทคนิคการฝึกพฤติกรรมกล้าแสดงออก  ต่อเลยน่ะไหน ๆ ก็ลงทุนเขียนจดหมายซะขนาดนี้แล้วก็เอาให้คุ้มก็แล้วกัน  จะส่งเป็นเอกสารอิเลคทรอนิคส์ก็สุดวิสัย  เพราะความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศของผมก้าวไปยังไม่ถึง  อย่างไรเสียเอ๋ก็ต้องเข้าใจ  เพราะไม่ว่าเอกสารจะเป็นรูปแบบไหน  เอ๋ก็ต้องใช้จักขุประสาทในการอ่านอยู่ดีนั่นแหละ

แนวคิดที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้เป็นแนวคิดที่ผมชอบโดยส่วนตัว  นั่นคือทฤษฎีการเรียนรู้ทางปัญญาสังคม  ของ Bandura  แนวคิดที่สำคัญของทฤษฎีการเรียนรู้ทางปัญญาสังคมนั้นให้กับการเรียนรู้ทางสังคม  โดยเชื่อว่าพฤติกรรมของบุคคลเกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสิ่งแวดล้อม  โดยที่บุคคลจะเลียนแบบจากตัวแบบ   การเลียนแบบนี้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยการสังเกตพฤติกรรมจากตัวแบบ  รวมถึงการตอบสนองและปฏิกิริยาต่าง ๆ ของตัวแบบ  ซึ่งผลจากการสังเกตตัวแบบ จะทำให้บุคคลสามารถเลียนแบบพฤติกรรมของตัวแบบหรือแสดงพฤติกรรมใหม่ ๆ ได้โดยไม่ต้องลองผิดลองถูก  นอกจากนี้นะ Miller  และ Dollard  ได้ศึกษาการเรียนรู้ทางสังคมในลักษณะคามซับซ้อนของพฤติกรรมมนุษย์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับทฤษฎีการเรียนรู้และเงื่อนไขทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อสถานการณ์การเรียนรู้เหล่านั้น และตั้งทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมที่ประกอบด้วยการเรียนรู้ 4 ประการ คือ แรงขับ เครื่องชี้บอก การตอบสนองและรางวัล   จากที่ผมเล่าให้เอ๋ฟังมาเนี่ย เห็นหรือยังว่าแนวคิดทฤษฎีการเรียนรู้ทางปัญญาสังคม  ของ Bandura  มีจุดน่าส่วนใจโดยส่วนตัวผมเองตรงไหน  ลองทายซิ   รับรองทายไม่ถูกหรอก  เฉลยให้ฟังก็ได้ที่ผมชอบคือมันไม่ต้องคิดอะไรมาก  เลียนแบบอย่างเดียวก็เกิดพฤติกรรมการเรียนรู้แล้ว  พยัญชนะไทย ง.งู  มาก่อน ฉ.ฉิ่ง  อันนี้เห็นด้วย  เพราะ โง่ต้องมาก่อนฉลาด  แต่พิจารณาตามวิถีชีวิตแล้ว ล.ลิง  ต้องมาก่อน  ร.เรือ ซิน่ะ  เพราะมันต้องเลียนก่อน   ถึงจะเรียนได้ ถ้าว่าตามแนวคิดพื้นฐานของทฤษฎีนี้    อันนี้ผมก็คิดเอาตามภูมิปัญญาท้องถิ่นน่ะ  ตามประสาคนแก่ที่เกษียณอายุแล้ว  ว่าง ๆ ก็ฝึกคิดอะไรไปเรื่อยแก้เหงา  แหม! ว่าจะไม่พูดเรื่องของตัวเองแล้วนะเนี่ย  รู้สึกว่าเป็นปมด้อยยังไงไม่รู้   กลับไปเรื่องเดิมดีกว่า

มันยังมีอีกทฤษฎีหนึ่งน่ะ  น่าสนใจและชื่อทฤษฎีก็ตรงกับเรื่องที่เอ๋ตองการเลย  นั่นคือ   ทฤษฎีพฤติกรรมแสดงออก (Assertion Theory) ของทฤษฎีของ คอลเลย์ (Kelley) ได้อธิบายเกี่ยวกับไว้ว่า  ทฤษฎีกล้าแสดงออกเป็นทฤษฎีการตอบสนองทางพฤติกรรมศาสตร์แบบหนึ่งที่นำมาใช้มาก โดยการจัดโปรแกรมการฝึกอบรมให้แก่ผู้ที่มีความประสงค์จะปรับพฤติกรรมของเขา เรียกว่า ทฤษฎีการป้องกันสิทธิ คือ เป็นการแสดงสิทธิพึงมีพึงได้ของตนเอง โดยไม่เป็นการล่วงละเมิดหรือก้าวก่ายสิทธิของผู้อื่น และการแสดงออกที่เหมาะสมในสถานการณ์ทางสังคมหลาย ๆ ด้าน  เป็นการสอนให้บุคคลมีพฤติกรรมกล้าแสดงออกที่เหมาะสมด้วย  ซึ่งจริง ๆ แล้วนอกจากนอกจากพฤติกรรมกล้าแสดงออกที่เหมาะสมแล้ว  บุคคลอาจตอบสนองสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อีก 2  ลักษณะ คือ พฤติกรรมไม่กล้าแสดงออก  และพฤติกรรมก้าวร้าว

แนวคิดในการนำมาประใช้กับการปรับหรือการฝึกพฤติกรรมกล้าแสดงออกอีกทฤษฎีหนึ่งคือ  ทฤษฎีค่านิยม ของ โรคิช    ได้ให้คำนิยาม ค่านิยม ว่า เป็นความเชื่อทั้งหลายที่มีร่วมกันเกี่ยวกับสิ่งที่ควรทำหรือสิ่งที่ควรห้ามด้านวิธีปฏิบัติทั้งหลายที่เป็นอุดมคติและจุดหมายปลายทางทั้งหลายที่เป็นอุดมคติในการมีชีวิตอยู่ โดยที่มนุษย์ใช้ความเชื่อ และการปฏิบัติตามความเชื่อในทิศทางที่สอดคล้องกับแรงจูงใจในการดำรงอยู่และเพิ่มความนับถือตนเองมากขึ้น      นอกจากนั้นยังมีทฤษฎีการคงตัว   ซึ่งสาระของทฤษฎีการคงตัวกล่าวว่า   ความเชื่อ หมายถึง ความคิดใด ๆ ว่าเป็นไปได้หรือแน่ใจเกี่ยวกับมีอยู่-เป็นอยู่ การประเมินสิ่งที่ควรทำ สิ่งที่ควรห้าม หรือสาเหตุ เจตคติ หมายถึง การจัดระบบที่ค่อนข้างคงทนของความเชื่อเกี่ยวกับการมีอยู่-เป็นอยู่ การประเมินสิ่งที่ควรทำ สิ่งที่ควรห้าม หรือสาเหตุที่จัดระบบของที่หมายหนึ่งหรือสถานการณ์หนึ่ง และกำหนดล่วงหน้าให้บุคคลตอบเสนอต่อ    1) ที่หมายหรือสถานการณ์ว่าตนชอบสิ่งใดมากกว่าสิ่งใด  2) ต่อทุกคนที่บุคคลรับรู้ว่ามีเจตคติต่อที่หมายหรือสถานการณ์แตกต่างกัน  และ  3)ต่อการควบคุม หรือแรงกดดันทางสังคมที่เจตนาจะบังคับการแสดงออกให้มีจุดยืนที่เฉพาะเจาะจงต่อที่หมายหรือสถานการณ์ตอบสนองทั้งหมดที่เป็นความชอบบางอย่างมากกว่าบางสิ่งบางอย่าง  จะเห็นว่า แนวคิดกลุ่มนี้ให้ความสำคัญเกี่ยวความเชื่อ  ค่านิยม เจตคติ อะไรประมาณนี่หละ เพราะถือว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้บุคคลมีพฤติกรรมต่าง ๆ ตามสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วย 

ที่เล่ามามีรายละเอียดมากกว่านี้น่ะ  ถ้ามันตรงกันสิ่งที่ต้องการก็จะจัดส่งรายละเอียดไปให้   ก่อนจะเข้าประเด็นสุดท้าย  ยังมีแนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการกลุ่มซึ่งเป็นทฤษฎีที่เอ๋อาจจะต้องการรู้รายละเอียด  ก็จะขอแถมให้หน่อยก็แล้วกันไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้วนี่นา  ทฤษฎีที่ว่านี้มีอยู่ 4 ทฤษฎี  ด้วยกันอันแรกเรียกว่า ทฤษฎีสนาม (Field Theory) ซึ่งมีสาระสำคัญว่าความสัมพันธ์ของสมาชิกในกลุ่มจะทำให้เกิดพฤติกรรม  โดยที่พฤติกรรมจะแตกต่างกันไปตามโครงสร้างของกลุ่มที่แตกต่างกัน  ปฏิสัมพันธ์ภายในกลุ่มจะออกมาในรูปของการกระทำ  ความรู้สึกและความคิด  ซึ่งสมาชิกในกลุ่มจะมีการปรับตัวเข้าหากัน  ช่วยกันทำงานก่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน      ทฤษฎีที่สองคือทฤษฎีปฏิสัมพันธ์ (Interaction Theory) มีแนวคิดว่ากลุ่มจะมีปฏิสัมพันธ์ทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านรางกาย วาจา และจิตใจ ภายใต้กิจกรรมต่างๆ จนก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกขึ้น    ทฤษฎีที่สามคือ ทฤษฎีสังคมมิติ  (Sociometric Oriented Theory)  มีแนวคิดที่ว่า  การกระทำและจริยธรรมทำให้สมาชิกในกลุ่มเกิดความสัมพันธ์กัน  เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาความสัมพันธ์คือการแสดงบทบาทสมมุติหรือเครื่องมือวัดทางสังคม  และทฤษฎีที่สี่ คือ ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic Oriented Theory)  ซึ่งมีสาระสำคัญว่า  การที่บุคคลอยู่รวมกันเป็นกลุ่มจะต้องอาศัยแรงจูงใจซึ่งอาจเป็นรางวัล หรืออื่น ๆ ก็ได้  ในการรวมกลุ่มนั้นบุคคลอาจแสดงตนหรือปกปิดตนโดยใช้กลวิธานทางจิต  จุดเด่นของทฤษฎีนี้คือทำให้เข้าใจตนเองและผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น   สรุปให้ฟังย่อ ๆ อย่างนี้คงพอเข้าใจน่ะ  สี่ทฤษฎีที่เกี่ยวกับกระบวนการกลุ่มเอ๋สามารถนำไปประยุกต์เป็นเทคนิคในการฝึกพฤติกรรมการแสดงออกได้ 

ยังมีทฤษฎีของโรเจอร์สำหรับการประยุกต์ใช้กับการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับธรรมชาติของมนุษย์ในเรื่องของ ความเชื่อ  ศักดิ์ศรี  คุณค่าของมนุษย์  ความเป็นตัวของตัวเองในโลกส่วนตัวซึ่งไม่มีใครเข้าใจได้มีการป้องกันตนเองโดยใช้กลวิธานทางจิต   และมนุษย์มีแนวโน้มจะพัฒนาตนเองไปสู่ขั้นสูงสุดได้  เป็นผู้ที่มีความน่าเชื่ออีต่างหาก  ทั้งนี้ ต้องไม่สวมหน้ากากเข้าหากัน (อันนี้จะรู้มั้ยเนี่ย)  และไม่ยอมให้การกระทำของตนถูกกำหนดจากผู้อื่น ใจกว้าง  ยอมรับตนเอง  ไว้วางใจผู้อื่น  มีเหตุผล   สำหรับเรื่องมีเหตุผลนี่น่ะ  บ้างครั้งคนเราก็มีเหตุผลบ้างไม่มีเหตุผลบ้าง  เอ๋ว่าจริงมั้ย  ปัญหาของมนุษย์อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ เนี่ย  มันไม่เกิดจากสถานการณ์หรือเหตุการณ์ภายนอกหรอกนะ   มันเกิดจากตัวเรานี่แหละที่เหตุผลบ้างไม่มีเหตุผลบ้าง  หรือสมเหตุสมผลบ้าง  ไม่สมเหตุสมผลบ้าง  เมื่อเราเป็นเช่นนี้ก็เพราะความคิดความเชื่อ  การประเมินการตีความ  ก็จะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นพฤติกรรมที่เหมาะสมและไม่เหมาะ  พูดถึงเรื่อง เหตุผลบ้างไม่มีเหตุผลบ้าง  ชักเคืองสาวเหลือน้อยที่นั่งอยู่นอกชานจังเลย  เพราะเธอคนนั้นเองแหละคือสัญลักษณ์แห่งความไม่สมเหตุสมผล อันนี้ว่าตาม Albert Ellis เขาน่ะ แหม่ มันตรงซะจริง ๆ ว่าง ๆ จะส่งสาวเหลือน้อยไปเข้าคอสร์บำบัด ที่เรียกว่า Ration Emotive  Therapy (RET) ของ Albert Ellis  นั่นแหละ  แต่หลัง ๆ เขาเปลี่ยนเป็น Ration Emotive Behavior  Therapy (REBT)  นะ  สงสัยใช้นโยบายคิดใหม่ทำใหม่อะไรทำนองนั้น

เออ... ว่าจะถามต้องนานแล้วน่ะ  ลืมไป  ขออนุญาตใช้สิทธิในการแสดงพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผลหน่อยก็แล้วกัน   เขียนมาตั้งนานลืมถามว่า  เอ๋เป็นไงบ้างสบายดีมั้ย ? ครอบครัวทางบ้านอบอุ่นดีน่ะ  เอ๋ไม่ต้องตอบก็ได้   เพราะผมถามเป็นพิธีเท่านั้นเอง  ซึ่งถือว่าเป็นเพียงการรักษามารยาทในระดับมาตรฐานสังคมไทย  ลายมือผมเอ๋คงอ่านง่ายน่ะเพราะว่าตั้งใจเขียนจนสุดแรงเกิด   ที่เล่าให้ฟังทั้งหมดเนี่ยเป็นหลักการแนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ ที่เขาใช้ทำการศึกษาวิจัยในเรื่องของการปรับพฤติกรรมกล้าแสดงออกในกรณีต่าง ๆ  ซึ่งก็เห็นผลดีน่ะ   ตอนนี้เอ๋คงสงสัยแล้วซิว่า   แนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ  ทั้งหลายเขานำมาใช้อย่างไร

และประเด็นสุดท้ายที่จะเล่าสู่กันฟังก็คือ  เทคนิคในการปรับพฤติกรรม  มันเล่ายากเหมือนกันนะ  เพราะงานวิจัยแต่ละชิ้นเขาใช้หลายทฤษฎีร่วมกัน เช่น การแสดงบทบาทสมมุติ  การแสดงบทบาทสมมุติแบบทันทีทันใดโดยไม่มีบท การให้คำแนะนำ  การเสริมแรงทางบวก   การใช้สถานการณ์จำลอง   การเสนอตัวแบบ  การให้ข้อมูลป้อนกลับ  การเสริมแรงด้วยการใช้เบี้ยอรรถกร  การทำกิจกรรมกลุ่ม  การใช้กรณีตัวอย่าง  การใช้เทคนิคแม่แบบเพื่อน   การใช้เทคนิคแม่แบบหุ่นมือ   การให้คำปรึกษาแบบกลุ่มเผชิญความจริง  กิจกรรมกระจ่างนิยม   การให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม   หากจะแบ่งเป็นกลุ่มก็น่าจะประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1  กลุ่มที่ใช้ทฤษฎีการวางเงื่อนไขเป็นหลัก  ได้แก่  การเสริมแรงทางบวก  การเสริมแรงด้วยการใช้เบี้ยอรรถกร 

กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่ใช้ทฤษฎีการเรียนรู้ปัญญาสังคมเป็นหลัก  ได้แก่  การเสนอตัวแบบ การใช้เทคนิคแม่แบบหุ่นมือ   การให้ข้อมูลป้อนกลับ  การใช้สถานการณ์จำลอง   การใช้กรณีตัวอย่าง  การแสดงบทบาทสมมุติ  การแสดงบทบาทสมมุติแบบทันทีทันใดโดยไม่มีบท

กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่ใช้ทฤษฎีเกี่ยวกับกระบวนการกลุ่มเป็นหลัก  ได้แก่  การทำกิจกรรมกลุ่ม  กิจกรรมกระจ่างนิยม   เทคนิคการใช้กลุ่มสัมพันธ์

กลุ่มที่ 4 กลุ่มที่ใช้ทฤษฎีการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มเป็นหลัก  ได้แก่  การให้คำปรึกษาแบบกลุ่มเผชิญความจริง  การให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม

เอ๋ต้องเข้าใจก่อนนะว่า  ในการแบ่งกลุ่มข้างต้นเป็นการแบ่งแบบตายตัวเพื่อความชัดเจน  แต่ในความเป็นจริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่  มันมีเทคนิคหลายอัน  ที่สามารถจัดเข้าได้กับกลุ่มอื่น ๆ ได้อีกและในงานวิจัยที่ศึกษามานี่เขาใช้ทฤษฎีต่างๆ นานร่วมกันจนได้เป็นเทคนิคแต่ละอัน  ทีนี้เรามาดูกันว่าในแต่ละกลุ่มเขาทำอย่างไรในการทดลอง   เรามาเริ่มกันเลยนะ

กลุ่มที่ใช้ทฤษฎีการวางเงื่อนไขเป็นหลัก  ได้แก่ 

1) การเสริมแรงทางบวกทำโดยให้คำชมเชย  ให้กำลังใจให้การบ้านไปทำ(กลุ่มทดลองเป็นเด็กระดับประถมศึกษา)  ส่งผลต่อพฤติกรรมการพูดหน้าชั้นดีขึ้น  ซึ่งเป็นการพูดที่ถูกต้องเหมาะสม  ทั้งภาษา  ท่าทาง  ถ้อยคำ 

 2)การเสริมแรงด้วยการใช้เบี้ยอรรถกรเป็นการใช้เงิน(บาท)  คะแนน (แต้ม)  และการชมภาพยนตร์  (กลุ่มทดลองเป็นเด็กระดับประถมศึกษา)  สามารถเพิ่มความถี่ของพฤติกรรมกล้าแสดงออกได้จริง  ได้แก่พฤติกรรมการยกมือขอพูดหรือถามครู  การสนทนา  การโต้ตอบ  การเป็นผู้อาสา

กลุ่มที่ใช้ทฤษฎีการเรียนรู้ปัญญาสังคมเป็นหลัก  ได้แก่ 

1) การเสนอตัวแบบ  ใช้เทคนิคนี้ควบคู่กับเทคนิคอื่น ๆ โดยเฉพาะ  เทคนิคการเสริมแรง  เทคนิคการทำกิจกรรมกลุ่ม  (กลุ่มทดลองเป็นเด็กระดับมัธยมศึกษา)  เป็นการให้เด็กแสดงพฤติกรรมกลุ่มที่เป็นตัวอย่าง  พบว่าเด็กแสดงบทบาทได้อย่างเหมาะสมครบถ้วนทุกด้านในสถานการณ์จริง  พร้อมทั้งเด็กมีบทบาทในการแนะนำให้ข้อมูลย้อนกลับไปยังเด็กที่เป็นกลุ่มแสดง  เป็นการเสริมแรงทางบวก  เด็กมีสัมพันธภาพระหว่างกันดีขึ้น  มีการปรับตัวเข้าหากันดี 

2) การใช้เทคนิคแม่แบบหุ่นมือเป็นการสังเกตและเลียนแบบพฤติกรมของแม่แบบ ซึ่งแสดงโดยเพื่อนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีพฤติกรรมกล้าแสดงออกในชั้นเรียน ผลจากการสังเกตและเลียนแบบจะทำให้นักเรียนมีพฤติกรรมกล้าแสดงออกในชั้นเรียนมากขึ้น    สำหรับการใช้เทคนิคแม่แบบเพื่อน   พบว่านักเรียนมีพฤติกรรมกล้าแสดงออกในชั้นเรียนหลังจากได้รับการใช้เทคนิคแม่แบบเพื่อน   อย่างไรก็ตามนักเรียนมีพฤติกรรมกล้าแสดงออกในชั้นเรียนมากขึ้น หลังจากได้รับการใช้เทคนิคแม่แบบหุ่นมือทั้งนี้อาจเป็นเพราะแม่แบบหุ่นมือเป็นสิ่งเร้าที่ทำให้นักเรียนเกิดความสนใจจดจำ และเลียนแบบพฤติกรรมที่สังเกตและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้   จากการทดลองทั้ง 2 เทคนิคเขาพบว่าการใช้เทคนิคแม่แบบเพื่อนและการใช้เทคนิคแม่แบบหุ่นมือต่างมีความเหมาะสมในการพัฒนาพฤติกรรมกล้าแสดงออกในชั้นเรียนทั้งสิ้น จึงส่งผลให้นักเรียนมีพฤติกรรมกล้าแสดงออกในชั้นเรียนใกล้เคียงกัน

3) การให้ข้อมูลป้อนกลับ   เทคนิคนี้ใช้ควบคู่กับเทคนิคกิจกรรมกลุ่ม

4) การใช้สถานการณ์จำลอง เทคนิคนี้ใช้ควบคู่กับเทคนิคตัวแบบต่าง ๆ

5) การใช้กรณีตัวอย่าง  โดยที่ผู้วิจัยรวบรวมข่าวเหตุการณ์และปัญหาต่างๆที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวันมาปรับปรุงและผูกเรื่องเป็นตัวอย่างให้นักเรียนได้ศึกษา เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกวิเคราะห์ วิจารณ์ อภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และร่วมตัดสินใจในการแก้ปัญหา(กลุ่มทดลองเป็นเด็กระดับประถมศึกษา)พบว่า นักเรียนมีพฤติกรรมกล้าแสดงออกมากขึ้น หลังจากได้รับการใช้กรณีตัวอย่าง แสดงว่าการใช้กรณีตัวอย่างสามารถนำมาใช้พัฒนาพฤติกรรมกล้าแสดงออกได้ ทั้งนี้เพราะการใช้กรณีตัวอย่างทำให้นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้าเป็นกลุ่มเพื่อให้นักเรียนได้รู้จักวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา และร่วมตัดสินใจเลือกแนวทางในการแก้ปัญหา จากนั้นจึงส่งตัวแทนกลุ่มออกมาเสนอรายงาน และแนวทางแก้ไขของกลุ่มตนต่อสมาชิกอื่นๆ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้สมาชิกกลุ่มอื่นๆ ได้ซักถามและร่วมกันอภิปรายเป็นกลุ่มใหญ่อีกครั้ง เพื่อให้เป็นหลักการทั่วไป 

6) การแสดงบทบาทสมมุติ  เป็นการแสดงบทบาทตามลักษณะนิสัยของตัวละครที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นและถือเอาความรู้สึกและพฤติกรรมของผู้แสดงมาเป็นข้ออภิปรายเพื่อพัฒนาพฤติกรรมกล้าแสดงออก(กลุ่มทดลองเป็นเด็กระดับประถมศึกษา)  พบว่าการใช้บทบาทสมมติสามารถนำมาใช้พัฒนาพฤติกรรมกล้าแสดงออกได้ ทั้งนี้เพราะการใช้บทบาทสมมติเป็นกิจกรรมการเรียนในลักษณะเรียนปนเล่น นักเรียนมีความสนุกสนานกับการเรียน มีโอกาสแสดงออกอย่างเต็มที่

7) การแสดงบทบาทสมมุติแบบทันทีทันใดโดยไม่มีบท  ใช้คู่กับการให้ข้อมูลย้อนกลับ  การเสริมแรงการให้ข้อเสนอแนะ  และวิดีทัศน์  (กลุ่มทดลองเป็นผู้ป่วยจิตเภท)  พบว่าผู้ป่วยจิตเภทที่ได้รับการฝึกพฤติกรรมที่เหมาะสมในการแสดงออกมีพฤติกรรมการแสดงออกในการเผชิญความขัดแย้งระหว่างบุคคลด้านการแข่งขันลดลง และมีพฤติกรรมที่แสดงออกในการเผชิญความขัดแย้งระหว่างบุคคลด้านการประนีประนอมเพิ่มขึ้น ส่วนพฤติกรรมการแสดงออกในการเผชิญความขัดแย้งระหว่างบุคคลด้านการร่วมมือเพิ่มขึ้น  แต่ด้านการหลีกเลี่ยงและด้านการยอมให้ ลดลง 

ขออธิบายเพิ่มเติมนิดหนึ่ง    เพราะเอ๋อาจจะงงกับคำศัพท์แสงที่ให้ในงานวิจัยมันสวิงสวายเหลือเกิน คำที่ว่า”การยอมให้” นะ มันเป็นการแสดงพฤติกรรมของบุคคลที่มุ่งเน้นการเอาใจผู้อื่น เป็นผู้เสียสละ ปล่อยให้บุคคลอื่นดำเนินการได้ตามที่เขาชอบ ถึงแม้ว่าจะไม่เห็นด้วยก็ตาม ผู้ที่แสดงพฤติกรรมการยอมให้นอกจากจะเป็นผู้เสียสละแล้ว ยังไม่ต้องการที่จะให้เกิดการบาดหมางใจระหว่างบุคคล ซึ่งจะคล้ายกับว่าแพ้เป็นพระชนะเป็นมาร  เอ....แล้วเขาจะเอาอะไรกันนักหนากับผู้ป่วยจิตเภทเนี่ย  ขนาดผู้ป่วยยังต้องปรับเลยเนาะ  นับประสาอะไรกับพวกเราละ

 

กลุ่มที่ใช้ทฤษฎีเกี่ยวกับกระบวนการกลุ่มเป็นหลัก  ได้แก่ 

1) การทำกิจกรรมกลุ่ม ใช้คู่กับการเสนอตัวแบบ  การแสดงบทบาทสมมุติ การใช้สถานการณ์จำลอง   การให้ข้อมูลป้อนกลับ  (กลุ่มทดลองเป็นเด็กระดับประถมศึกษา)  ส่งผลต่อพฤติกรรมการพูดหน้าชั้นดีขึ้น  ซึ่งเป็นการพูดที่ถูกต้องเหมาะสม  ทั้งภาษา  ท่าทาง  ถ้อยคำ สามารถสบตาครูและเพื่อน  การออกไปพูดหน้าชั้นเร็วขึ้นไม่อิดออด

2) กิจกรรมกระจ่างนิยม  เป็นกระบวนการพัฒนาค่านิยมด้วยตนเอง เน้นที่ความรู้สึก หรือความคิดเห็นในการสำรวจค่านิยมของตนภายใต้สถานการณ์ที่กำหนด โดยผู้เรียนเข้ากลุ่มอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยการฟัง การซักถามซึ่งกันและกันจากคำถามนำความคิด โดยการเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสียของเหตุและผล ตลอดจนผลลัพธ์จากพฤติกรรมด้วยการพัฒนาค่านิยมอย่างเป็นขั้นตอน (กลุ่มทดลองเป็นเด็กด้อยโอกาส)  พบว่าเด็กด้อยโอกาสที่ได้รับการฝึกกิจกรรมกระจ่างค่านิยมมีพฤติกรรมกล้าแสดงออกในระยะหลังการทดลองสูงกว่าระยะก่อนการทดลอง

3) เทคนิคการใช้กลุ่มสัมพันธ์ เป็นเทคนิคการเรียนรู้ที่จัดให้กลุ่มทดลอง มีกิจกรรมร่วมกันเพื่อ ช่วยให้นักศึกษาในกลุ่มทดลองเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับตนเอง เปิดเผยตนเอง และเข้าใจเพื่อน สามารถพัฒนาตนเองให้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและสามารถทำงานร่วมกันได้ อย่างมีประสิทธิภาพ(กลุ่มทดลองเป็นนักศึกษาพยาบาล)  พบว่า กลุ่มทดลองที่ได้รับการฝึกด้วยกลุ่มสัมพันธ์มีพฤติกรรมกล้าแสดงออกที่เหมาะสมสูงกว่าก่อนการฝึก  และทำให้เกิดความมั่นใจในตนเอง และมีความกล้าที่จะแสดงพฤติกรรมกล้าแสดงที่เหมาะสมได้กับบุคคลทุกคน ทุกสถานการณ์   ซึ่งจะก่อให้เกิดความต้องการผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง มีความมั่นใจในตนเองสูงขึ้นด้วย ส่งผลให้กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำให้สิ่งที่ถูกต้องจริงใจ ตรงไปตรงมา ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น นั้นคือการแสดงออกทั้งอารมณ์กิริยาท่าทาง การใช้ภาษาพูดเหมาะสมกับกาลเทศะ อันจะก่อให้เกิดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมความเข้าใจอันดี ระหว่างบุคคล

กลุ่มที่ใช้ทฤษฎีการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มเป็นหลัก  ได้แก่ 

1) การให้คำปรึกษาแบบกลุ่มเผชิญความจริง เป็นการให้ความช่วยเหลือ ผู้รับคำปรึกษาเป็นกลุ่ม เพื่อช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาทุกคนในกลุ่มได้พิจารณาและตระหนักถึงพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของตน ตลอดจนเข้าใจถึงสภาพปัญหาตามความเป็นจริงและให้ผู้รับคำปรึกษาเข้าใจในสิทธิและหน้าที่ของตน ที่จะต้องรับผิดชอบต่อความต้องการของตนในการที่กำหนดแนวทางในการแก้ไขและปรับปรุงพฤติกรรมของตนให้ดีขึ้น(กลุ่มทดลองเป็นเด็กด้อยโอกาส)  พบว่าเด็กด้อยโอกาสที่ได้รับการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มเผชิญความจริงมีพฤติกรรมกล้าแสดงออกในระยะติดตามผลสูงกว่าระยะก่อนการทดลอง

2) การให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม   เป็นกระบวนการของความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มตัวอย่าง (กลุ่มทดลองเป็นนักเรียนมัธยม)  ในบรรยากาศแห่งการยอมรับซึ่งกันและกัน ความอบอุ่น ความไว้วางใจกัน และความเป็นกันเอง เปิดโอกาสให้สมาชิกได้สำรวจตนเองประเมินตนเอง ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อกัน และได้ระบายความรู้สึกเกี่ยวกับปัญหาที่เขาเผชิญอยู่ให้เข้าใจตนเองและผู้อื่นดีขึ้น สามารถนำสิ่งที่เรียนรู้จากกลุ่มไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันเป็นแนวทางในการพัฒนาตนเองต่อไป โดยผู้นำกลุ่มเป็นผู้เอื้ออำนวยบรรยากาศที่เหมาะสม สร้างสัมพันธภาพที่ดีใช้ทักษะการฟัง การสะท้อนความรู้สึก การตั้งคำถาม การฟัง การเงียบและการแสดง  พบว่ากลุ่มทดลองมีคะแนนพฤติกรรมกล้าแสดงออกและคะแนนความฉลาดทางอารมณ์สูงกว่าก่อนการทดลอง แสดงให้เห็นว่าการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มสามารถลดพฤติกรรมไม่กล้าแสดงออกได้  กล่าวคือ การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามแนวช่วยให้นักเรียนมีพฤติกรรมกล้าแสดงออกมากขึ้น   ที่สำคัญการให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มผู้วิจัยเขาใช้แนวคิดของโรเจอร์ส  น่ะจะบอกให้

 3) การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามแนวคิดพิจารณาเหตุผล อารมณ์และพฤติกรรม   เป็น กระบวนการของสัมพันธภาพในการช่วยเหลือแบบกลุ่มที่ช่วยให้ผู้รับการปรึกษาเปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อที่ไม่สมเหตุสมผลในสถานการณ์ที่ไม่พึงพอใจไปสู่ความคิดความเชื่อที่มีเหตุผล  โดยเปิดโอกาสให้สมาชิกได้สำรวจอารมณ์ที่ไม่เป็นสุขของตนเองเพื่อให้สมาชิกตระหนักว่าอารมณ์ที่ไม่เป็นสุขของตนเกิดจากความคิดความเชื่อที่ไม่สมเหตุสมผล และเปลี่ยนความคิดความเชื่อของตนโดยผ่านกระบวนการของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันของสมาชิก ให้สมาชิกได้ร่วมมือกันฝึกการใช้ความคิดความเชื่ออย่างมีเหตุผล สามารถยอมรับความเป็นจริงในการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน (กลุ่มทดลองเป็นนักเรียนมัธยม)  พบว่านักเรียนที่ได้เข้าร่วมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามแนวคิดพิจารณาเหตุผล อารมณ์ และพฤติกรรม มีคะแนนความกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสมหลังการเข้าร่วมการปรึกษาสูงกว่าก่อนเข้าร่วมการปรึกษา  แสดงให้เห็นว่าการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามแนวคิดพิจารณาเหตุผล อารมณ์ และพฤติกรรมสามารถทำให้กลุ่มทดลองมีการเปลี่ยนความคิดที่ไม่สมเหตุสมผลให้เป็นความคิดที่มีเหตุผล อันส่งผลให้นักเรียนมีความกล้าแสดงออกอย่างเหมาะสมมากขึ้น

ที่ผมสรุปมาให้เอ๋ก็เป็นผลงานวิจัยที่เขาศึกษาเอาไว้   อธิบายตามประสาคนเกษียณอายุน่ะ  ก็ชาวบ้านธรรมดานี่แหละไม่ได้มีความรู้อะไรมากหรอก   เอ๋ต้องการก็หาให้  และสรุปให้ฟังและชาวบ้านร้านถิ่นอ่านรู้เรื่องในเบื้องต้น  ถ้าลึกต่อไปอีกก็ต้องมีระดับนัยสำคัญทางสถิติเอาไว้ด้วยนั่นเป็นเชิงวิชาการค่อยว่ากันทีหลัง  ตอนนี้เอาแบบชาวบ้านไปก่อน   เพราะชาวบ้านเขาต้องการรู้เพียงแค่ดี  ไม่ดี  ต่าง  ไม่ต่าง  เท่านั้น

เอาหละเล่ามาให้ฟังเสียนาน  เอ๋คงมองภาพออกนะว่าเทคนิคต่าง ๆ ที่เขานำมาปรับพฤติกรรมกล้าแสดงออกที่เอ๋ต้องการอยากรู้นะ  มันก็มีประการฉะนี้แล  เอ้า  สรุปให้อีกทีก็ได้  เทคนิคที่ใช้ประกอบด้วย  เทคนิคการให้การเสริมแรงแบบต่าง ๆ   เทคนิคตัวแบบ  เทคนิคการใช้กิจกรรมกลุ่ม  และเทคนิคเกี่ยวกับการให้คำแนะนำปรึกษาแบบกลุ่ม  และผู้วิจัยก็ใช้เทคนิคต่างผสมผสานกัน  หวังว่าคงพอเข้าใจนะ  ไม่เข้าใจก็จะส่งเอกสารฉบับเต็มไปให้   โอกาสหน้าถ้ามีก็ให้มารบกวนใหม่  ผมจะถือว่าไม่รบกวนแต่จริงก็รบกวนเล็กน้อยโดยไม่มีนัยสำคัญทางสถิติหรอกนะ  ไม่ต้องตกใจ 

สุดท้ายนี้  ขอให้เอ๋ ทำผลงานวิชาการให้ได้ รศ. เร็ว ๆ นะ  ต้องการข้อมูลอะไรก็จดหมายมา  อย่าโทรมานะที่บ้านไม่โทรศัพท์  มือถือไม่มี  อีเมล์ใช้  อยู่แบบพอเพียงตามประสาคนระดับรากหญ้า   หากมีเทคนิคการปรับพฤติกรรมการบ่นก็แจ้งให้ทราบด่วน  จะได้เอามาปรับพฤติกรรมกับคนแก่ที่นั่งหาวอยู่นอกชานซะหน่อย  แต่ที่แน่ ๆ ที่ผมคิดได้ตอนนี้ผมคิดได้เทคนิคหนึ่งแล้ว  นั่นคือ  เทคนิคตายแล้วเกิดใหม่  ใช้ได้ชัวร์ !!!  ขอให้เอ๋มีความสุขและรวย ๆ ตลอดปีใหม่นี้ด้วยเช่นกัน     คิดถึงชายชราแต่หน้าเด็กบ้างเน้อ

Text Box:

 

                                                                                                                                                            ด้วยรักและคิดถึงเสมอ

                                                                                                           ส.ปริญญา  ผู้อาภัพ