[หน้าแรก][BSRI][SWU][ดำเนินการโดย]


[สำนักงาน ก.พ. ]

ความเป็นมา
วัตถุประสงค์
ขอบเขตการศึกษา
ขอบเขตงาน
กลุ่มเป้าหมาย
ผลสัมฤทธิ์ของงาน
คณะทำงาน

ภาพกิจกรรม

โครงการ :: พัฒนาองค์ความรู้เพื่อการจัดทำจรรยาข้าราชการ

ศูนย์ส่งเสริมจริยธรรม สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน
สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร

ความเป็นมาและความสำคัญของการศึกษา
งานของแผ่นดินนั้น... มีเป้าหมายสูงสุดคือ “ประโยชน์สุขของประชาชน” ซึ่งรัฐบาลได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งนานาประเทศได้ยอมรับว่า เป็น “ทฤษฎี” ที่ใช้ในการบริหารประเทศมาวางรากฐานการบริหารราชการแผ่นดิน โดยกระแสพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่ได้พระราชทานแก่ข้าราชการ ได้ทรงเน้นให้ข้าราชการเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติอย่างมืออาชีพ มีมโนสุจริต
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดไว้ในหมวด 13 จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ มาตรา 279 บัญญัติว่า “มาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภท ให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมที่กำหนดขึ้น” และหมวดที่ 5 ส่วนที่ 3 แนวนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 78 (4) บัญญัติว่า “พัฒนาระบบงานภาครัฐ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพ คุณธรรม และจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงรูปแบบและวิธีการทำงาน เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐใช้หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการ
แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554)       ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการประเทศ ข้อ 3.3 สร้างภาคราชการและรัฐวิสาหกิจที่มีประสิทธิภาพและมีธรรมาภิบาล เน้นการอำนวยความสะดวกแทนการกำกับควบคุม และการทำงานร่วมกับหุ้นส่วนการพัฒนา โดยเน้นการสร้างภาคราชการและข้าราชการให้ทันสมัย โปร่งใส และมีขีดสมรรถนะสูงขึ้น รวมถึงการพัฒนาระบบราชการและข้าราชการให้ยึดหลักธรรมาภิบาลในการปฏิบัติราชการ
แผนบริหารราชการแผ่นดิน (พ.ศ. 2548-2551) ยุทธศาสตร์ 6 มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ. เป็นเจ้าภาพกลยุทธ์หลัก: สนับสนุนให้ภาคประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีส่วนร่วมรณรงค์ ปลูกฝังจิตสำนึกและค่านิยมของสังคมให้ประชาชนร่วมต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และให้ความร่วมมือป้องกัน ปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบในภาคราชการและภาคเอกชน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน (6.4.2) และสร้างและพัฒนาความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐทุกระดับ (6.4.4)
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551  หมวด 5 ว่าด้วยการรักษาจรรยาบรรณข้าราชการ ซึ่งกำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องรักษาจรรยาข้าราชการตามที่ส่วนราชการกำหนดไว้ โดยมุ่งประสงค์ให้เป็นข้าราชการที่ดี มีเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นข้าราชการ ในการกำหนดข้อบังคับว่าด้วยจรรยาข้าราชการดังกล่าวจะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของข้าราชการและประกาศให้ประชาชนทราบด้วย
วาระแห่งชาติด้านจริยธรรม ธรรมาภิบาล และการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ และกำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานตามวาระแห่งชาติ 7 ยุทธศาสตร์ โดยสำนักงาน ก.พ.ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในยุทธศาสตร์ที่ 2 การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม ค่านิยมและการพัฒนาข้าราชการ โดยมุ่งหมายให้ข้าราชการไทยมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ที่เหมาะกับระบบการบริหารจัดการภาครัฐที่ดี โดยยึดหลัก 4 พ (พึ่งตนเอง พอดี พอเพียง พอใจ) และยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล เพื่อให้ภาครัฐมีแนวปฏิบัติและวิธีการดำเนินการในด้านคุณธรรม จริยธรรมและ   ธรรมาภิบาลที่เทียบเท่าเกณฑ์สากล เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศและการยอมรับจากนานาประเทศ
สำนักงาน ก.พ.ในฐานะองค์กรความรับผิดชอบนโยบายการพัฒนาข้าราชการได้ตระหนักในความสำคัญของการเสริมสร้างจิตสำนึกข้าราชการ ให้มีการประพฤติตนอย่างมืออาชีพ มีคุณธรรม จริยธรรม รู้จักพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และสอดคล้องกับวาระแห่งชาติด้านจริยธรรม ธรรมาภิบาล และการป้องกันทุจริต ประพฤติมิชอบในภาครัฐ ตลอดจนพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฉบับปัจจุบันที่กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนต้องรักษาจรรยาข้าราชการตามที่ส่วนราชการกำหนด
ดังนั้น เพื่อให้ส่วนราชการได้มีองค์ความรู้ด้านการจัดทำจรรยาข้าราชการ และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพจึงจำเป็นต้องจัดให้มีการศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการจัดทำจรรยาข้าราชการ ตลอดจนพัฒนาคู่มือในการดำเนินการจัดทำจรรยาข้าราชการ แนวทางปฏิบัติซึ่งเป็นมาตรฐานพฤติกรรมตามจรรยาข้าราชการสำหรับส่วนราชการต่าง ๆ

 

create 16 พค 51